"ชุมพร" เครือข่ายโคกหนองนา ต.ละแม ร่วมกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี หิ้วปิ่นโตไปเอามื้อแบกจอบไปพลิกแผ่นดิน
10 ม.ค. 2565, 18:45
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 10 มกราคม 2565 บริเวณโคกหนองนา โมเดล ณ แปลงพื้นที่ นายสมนึก ชลสาคร หมู่ที่ 1 ตำบลสวนแตง อำเภอละแม จังหวัดชุมพร นายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ได้เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี หิ้วปิ่นโตไปเอามื้อแบกจอบไปพลิกแผ่นดิน ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนองนา โมเดล โดยมีนายฐิติวัชร บุญกิจ นายอำเภอละแม พร้อมเครือข่าย 41 เครือข่ายโคกหนองนาโมเดล ใน ตำบลละแม เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวนมาก
นายฐิติวัชร บุญกิจ นายอำเภอละแม กล่าวว่า กิจกรรมการเอามื้อสามัคคี หิ้วปิ่นโตไปเอามื้อแบกจอบไปพลิกแผ่นดิน ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนองนา โมเดล ที่ได้จัดขึ้นในวันนี้ โครงการการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนองนา โมเดล ณ แปลงพื้นที่ นายสมนึก ชลสาคร หมู่ที่ 1 ตำบลสวนแตง อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ตามที่กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนองนา โมเดล จังหวัดชุมพร มีพื้นที่ดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น 110 แปลง และอำเภอละแม มีพื้นที่ดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น 41 แปลง ซึ่งดำเนินการขุดปรับแปลงไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 34 แปลง คงเหลือแปลงพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 7 แปลง
และแปลงของนายสมนึก ชลสาคร แปลงพื้นที่จัดกิจกรรมการเอามื้อสามัคคีในวันนี้ เป็นกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน เป็นการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ สำหรับฝึกปฏิบัติ ร่วมกัน โดยกำหนดจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในแปลงของครัวเรือนเพื่อการเรียนรู้กิจกรรม โคก หนองนา โดยมีประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มและพัฒนาพื้นที่ ทำให้เกิดความสามัคคี เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดเครือข่ายในการทำงาน โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมในวันนี้ มาจากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายครัวเรือน โคก หนองนา อำเภอละแม ผู้นำกลุ่มองค์กรต่างๆในพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 60 คน
นายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กิจกรรมการเอามื้อสามัคคี หิ้วปิ่นโตไปเอามื้อ แบกจอบไปพลิกแผ่นดิน ตามโครงการ พัฒนาพื้นที่เป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฏีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนองนา โมเดล เป็นการทำเกษตรในพื้นที่ขนาดจำกัดหรือขนาดเล็กเป็นการเก็บน้ำไว้ ทั้งบนดินด้วย หนอง คลองไส้ไก่ และคันนา และใต้ดิน (ด้วยป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง) ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะในพื้นที่จำกัดแล้วแต่ขนาดของที่ดินตามสภาพความเหมาะสม เป็นการต่อยอดโครงการตามพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงตามทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงดำริและดำเนินการโครงการพระราชดำริมานานแล้วรวม 4,000 กว่าโครงการ แนวคิด โคก หนองนา โมเดลเดินตามศาสตร์ของพระราชา เพื่อการทำเกษตรแนวใหม่ที่ยึดหลักของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก แบ่งที่ดินเป็น 3 ส่วนส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ หลักทฤษฎีใหม่ ปรับสูตรพระราชทานใหม่เป็น 30 30 30 และ 10 คือ สัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4 ส่วน เพื่อการเพาะปลูก เป็นแหล่งน้ำ เป็นที่นาและเป็นที่อยู่อาศัย สรุปโครงการโคก หนองนา โมเดล เป็นการสร้างความมั่นคงในแหล่งการทำกิน ด้านการเกษตร เลี้ยงสัตว์ สู้กับภัยแล้ง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยปรับปรุงพื้นที่รองรับฝนธรรมชาติและการเชื่อมโยงวงจรชีวิต พืช สัตว์ ให้เดินทางร่วมกันได้
นายกิติพล เวชกุล กล่าวต่อว่า ในการทำ โคก หนองนา โมเดล นั้น ในแต่ละพื้นที่แต่ละแปลงก็เจอปัญหาที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นแปลงนี้ ได้ทำการขุดแปลงเสร็จเรียบร้อยไปแล้วตั้งแต่ ประมาณเดือนปลายเดือนสิงหาคมแล้ว แต่เนื่องจากตั้งแต่เดือน พฤษภาคม จนถึงเดือนธันวาคม ได้เกินฝนตกหลัก จนทำให้สระน้ำ คันดินที่ขุดไว้ แปลงที่วางไว้นั้น เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก แต่หลักจากที่ฝนหยุดตกแล้ว ทางผู้รับเหมาก็ได้เข้ามาแก้ไขให้เหมือนตามแบบเดิม จนเข้ารูปแบบเดิมตามโครงการโคกหนองนาโมเดล และสามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้ได้ และในวันนี้ก็ได้จัดกิจกรรม การเอามื้อสามัคคี หิ้วปิ่นโตไปเอามื้อ แบกจอบไปพลิกแผ่นดิน โดยได้นำเครือข่ายโคก หนองนา ในตำบลละแมเข้าร่วม กิจกรรมการเอามื้อสามัคคี หิ้วปิ่นโตไปเอามื้อ แบกจอบไปพลิกแผ่นดิน
ด้านนายศุภณัฐ ชลสาคร อายุ 30 ปี ซึ่งเป็นลูกชายของนายสมนึก ชลสาคร ซึ่งเป็นเจ้าของแปลง ได้เปิดเผยว่า ตนเองมีความภูมิใจที่ได้ร่วมโครงการโคก หนองนา โดเดล ได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อต้องการเดินตามรอยรัชการที่ 9 คือการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งตนเองได้ โดยได้แบ่งพื้นที่จำนวน 3 ไร่ มาเข้าร่วมโครงการ โดยจัดสรรแบ่ง เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 1 ส่วน ผักบุ้งแก้ว 1 ส่วน บ่อเลี้ยงปลา 1 ส่วน และแบ่งพื้นที่ทำเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร 1 ส่วน และที่สำคัญตนเองได้วางฐานการปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผล เป็นในลักษณะที่มีรายได้แบบเป็นรายวัน รายอาทิตย์และรายเดือน ส่วนคันดินรอบๆแปลง ปลูกต้นยืนต้น หลากหลาย เป็นไม้ 5 ระดับ โดยอนาคตตนเองจะทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ต่อไป