นายกฯ เดินหน้าเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีต่อเนื่อง ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางลงทุนแห่งภูมิภาค
25 ธ.ค. 2564, 11:45
วันนี้ (25 ธ.ค.64) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งเดินหน้าเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี ตามแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566 – 2570 ซึ่ง คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับระหว่าง ปี 2566 - 2570 ช่วงการก่อสร้างจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 20,000 ตำแหน่ง/ปี และปี2571 – 2580 ประมาณ 12,000 ตำแหน่ง/ปี การเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น ลดความสูญเสียจากความล่าช้าการเดินทางประมาณ 10.75 ล้านบาท/วัน หรือ 3,900 ล้าน/ปี ลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ 5% (ความสูญเสียลดลง 100 ล้านบาท/ปี) ยกระดับชีวิตด้วยระบบขนส่ง ที่ทันสมัย เชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ เดินทางจากกรุงเทพฯ ถึง ระยอง ภายใน 1 ชั่วโมง ลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพถนนในพื้นที่ จากความเร็ว 65 กม./ชม. เป็น 70 กม./ชม. มีเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น 275 กม. ปรับปรุงการก่อสร้างถนนและขยายช่องทางมากถึง 25 เส้นทางภายในปี 2570
โฆษกรัฐบาลเปิดเผยต่อว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ได้มีการผลักดันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานทุกระบบให้เชื่อมโยง ทั้งทางราง ทางน้ำ เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะระบบรางจาก สถานีรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภาฯ เชื่อมกับเมืองใหม่ และแหล่งท่องเที่ยว เข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และ พัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี ภายใต้กรอบได้แก่
1) พัฒนาและส่งเสริมการขนส่งสินค้าระบบรางและทางน้ำเป็นระบบหลัก 2) ส่งเสริม การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 3) เชื่อมต่อโครงข่ายถนน ปรับปรุงช่วงถนนคอขวดแก้ปัญหาจราจรหลักในอีอีซี4) พัฒนา โครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ นิคมอุตสาหกรรม เมืองที่จะพัฒนาในอนาคต และ 5) ใช้เทคโนโลยีและระบบ อัจฉริยะจัดการจราจรและการขนส่ง ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ เพิ่มขีดความสามารถระบบรางและทางน้ำ เชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบอื่น เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ยกระดับโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางประชาชน อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มสัดส่วนการเดินทางระบบสาธารณะ ส่งเสริมท่องเที่ยวทางรางและทางน้ำเข้าถึงพื้นที่หลักในอีอีซี และยกระดับโครงข่ายคมนาคม ด้วยมาตรการเชิงรุกและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเป็นไปตาม Road Map ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยเน้นให้ไทยเป็นสู่ประตู การค้า การลงทุน ศูนย์กลางคมนาคมโลจิสติกส์ของภูมิภาคสร้างความร่วมมือกลุ่มประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้รวมทั้ง รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่นๆ รองรับการเติบโตของอีอีซีในอนาคต
“ตลอดระยะเวลาของรัฐบาลนี้ ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปอย่างก้าวหน้ามากมาย อาทิ โครงการ พัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ตลอดจนเร่งให้มีการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม รวมทั้ง พัฒนากำลังคนและแรงงานของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว อาทิ โครงการผลิตและพัฒนาบุคลากร ด้านวิศวกรรมของชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง โครงการพัฒนาทักษะผู้เรียนให้มีทักษะ ด้านภาษา การใช้เทคโนโลยี โครงการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ขั้นสูงให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน โครงการศึกษาและพัฒนาแนวทางการเพิ่มศักยภาพคน รองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อสร้างเสริมขีดความสามารถของอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคตะวันออกเป็น ฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งภาคตะวันออกอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม ทั้งการขนส่งทาง อากาศ ทางราง ทางถนน และทางทะเล ทำให้มีโอกาสที่ประเทศต่างๆ จะใช้ประเทศไทยหรือภาคตะวันออก เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านแดนและเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมากยิ่งขึ้น” นาย ธนกร กล่าว