เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ. เล็งฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 3 เข็ม หลังพบสู้สายพันธุ์โอมิครอนได้


24 ธ.ค. 2564, 14:16



สธ. เล็งฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 3 เข็ม หลังพบสู้สายพันธุ์โอมิครอนได้




เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 12/2564 ว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการแจ้งและกำชับว่า จะต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 3 ตามข้อมูลวิชาการ อย่างล่าสุด บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ออกแถลงการณ์ ว่า ผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มที่ 3 ต่อจากแอสตร้าฯ 2 เข็มแรก จะทำให้ประสิทธิภาพของการป้องกันโรคเทียบเท่ากับฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ที่ป้องกันเชื้อเดลต้าได้ โดยเข็มกระตุ้นป้องกันโอมิครอนได้ ร้อยละ 90 ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ จึงจะสามารถนำข้อมูลนี้มาดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม ไทยสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย วันนี้เขายืนยันว่า 61 ล้านโดส จะส่งได้ในสิ้นปีนี้ตามสัญญา และจะเริ่มส่งอีก 60 ล้านโดส ของปีหน้า รวมทั้งวัคซีนรุ่นที่ 2 ด้วย ดังนั้น เราจะมีเกราะป้องกันการกระจายของเชื้อ ประชาชนตระหนักได้ ใช้ความรู้ การวิเคราะห์แต่อย่าตระหนก ตราบใดที่ตอนนี้ที่กรมควบคุมโรคมีข้อมูลว่า ความรุนแรงของโอมิครอนยังไม่เกินกว่าเดลต้า ซึ่งที่ผ่านมา เรารับมือได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อวัคซีนแอสตร้าฯ สามารถฉีดเข็มที่ 3 ได้ จะเปิดเป็นทางเลือกให้ประชาชนบูสเตอร์ โดส หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เชื่อหมอดีกว่า เราอย่าเลือกเอง ขอให้ฟังข้อมูลวิชาการว่ามีสูตรอะไร อย่างไร ซึ่งจะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ เพราะข้อมูลพวกนี้มีการศึกษาอย่างชัดเจน ไม่ใช่ทำออกมาโดยไม่ได้ศึกษา อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมฯ ทางอาจารย์แพทย์บอกว่า เมื่อแอสตร้าฯ บอกว่ามีข้อมูลกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 ได้ผลดีกับโอมิครอน เราก็สามารถบูสด้วยแอสตร้าฯ ได้



เมื่อถามว่า กรณีแอสตร้าฯ จะผลิตวัคซีนเฉพาะโอมิครอน และฐานการผลิตในไทยจะผลิตได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ผู้บริหารบอกว่า เมื่อเขามีเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาพร้อมจะถ่ายทอดมา และเขาก็มั่นใจคุณภาพฐานการผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์ อย่างเราสั่ง 60 ล้านโดส ไป เขาก็ไม่ใช่จะส่งรุ่นเก่าหมด หากเขามีวัคซีนรุ่นที่ 2 เขาก็ส่งมา

เมื่อถามอีกว่า กรณีแอสตร้าฯ ประกาศผลเข็มที่ 3 ทางประเทศไทยจะขยายสูตรการฉีดเข็มกระตุ้นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีการพิจารณา โดยจะเป็น แอสตร้าฯ 2 เข็ม และเข็มที่ 3 กระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ ได้ ถือเป็นอีกทางจากก่อนหน้านี้ใช้กระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA

ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุม กล่าวว่า ในที่ประชุมฯ พิจารณา 1.เห็นชอบข้อคำแนะจากคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในการให้วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก 5-11 ปี ด้วยวัคซีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียน ในขณะนี้มีตัวเดียวคือ วัคซีนไฟเซอร์ รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบสัญญาแผนการจัดซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดส ตามที่ สธ.เสนอไป โดยจะพยายามประสานให้จัดส่งโดยเร็วที่สุด โดยการฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี เป็นไปตามความสมัครใจ ใช้ระบบโรงเรียนเป็นฐานเหมือนที่ฉีดกับเด็ก 12-18 ปี ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังรวบรวมตัวเลขกลุ่มเด็ก 5-11 ปี ซึ่งเป็นเด็กอนุบาลจนถึงประถมศึกษา เบื้องต้นคาดว่ามี 5.4 ล้านคน ส่วนกรณีเด็กที่ไม่ได้ศึกษาในโรงเรียน หรือป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ก็สามารถฉีดในโรงพยาบาลได้

เนื่องจากฉีดในเด็กเล็ก ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ดี และแสดงความประสงค์จะฉีดตามสมัครใจ ซึ่งประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ นายกสมาคมกุมารแพทย์ มีความเห็นว่าไม่ควรเร่งฉีดจนกินไป ควรให้เวลาทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ให้ทราบข้อดี ข้อเสียอย่างถ่องแท้ก่อน

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า 2.เห็นชอบการฉีดเข็มกระตุ้น หรือ เข็มที่ 4 ให้บุคลากรแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะที่ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยะที่กินยากดภูมิฯ จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นบ่อยกว่าคนทั่วไป ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเกิน 3 เดือนขึ้นไปแล้ว ดังนั้น เพื่อรับมือโอมิครอน จึงเห็นชอบให้ฉีดเข็มกระตุ้น หากรับ ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยเข็มที่ 3 เป็นแอสตร้าฯ ก็ให้ฉีดเข็มที่ 4 เป็นแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ในกรณีที่แพ้แอสตร้าฯ ส่วนผู้ที่รับ ซิโนแวค 2 เข็ม เข็มที่ 3 เป็นไฟเซอร์ เข็มที่ 4 ก็ขอให้เป็นไฟเซอร์ ซึ่งทุกอย่างเป็นตามความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม บุคลากรแพทย์ที่ประสงค์การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal) หรือครึ่งโดส ก็สามารถทำได้


อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า 3.พิจารณาประกาศ สธ. เพิ่มเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เสนอให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นพนักงานควบคุมโรคติดต่อด้วย เพื่อให้ดูแลพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น และ 4.เห็นชอบการปรับมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อตับอักเสบชนิดซี โดยตั้งคณะอนุกรรมการนำเอาโมเดลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปดำเนินการให้เกิดแผนงานระดับประเทศ

ส่วนเรื่องข้อมูลมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ พิจารณาเรื่องวัคซีนของบริษัท แอสตร้าฯ ว่าการฉีด 3 เข็ม มีประสิทธิภาพตอบสนองต่อโอมิครอน ได้พอๆ กับ 2 เข็มที่สู้กับเดลต้า แต่เนื่องจากเป็นข้อมูลล่าสุด ทางกรมควบคุมโรคกำลังประสานขอข้อมูลดังกล่าว เพื่อจะได้เอาข้อมูลนี้เสนอต่อคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อพิจารณาว่า จะปรับสูตรวัคซีนอย่างไรต่อไป เช่น สูตรแอสตร้าฯ 2 เข็ม เดิมเราให้กระตุ้นเป็น mRNA อาจเพิ่มเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าฯ เป็นทางเลือก แต่ตอนนี้ขอให้รอคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาก่อน






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.