นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงพิธีเปิด ASEM13 ย้ำกลไกพหุภาคีนิยม-แนวทาง 5P ร่วมก้าวผ่านวิกฤตโลก
25 พ.ย. 2564, 19:13
วันนี้ ( 25 พ.ย.64 ) เวลา 15.05 น. ตามเวลาประเทศไทย ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มอาเซียน สำหรับพิธีเปิดการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ 13 (The 13th ASEM Summit: ASEM13) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในฐานะเจ้าภาพได้กล่าวถึงการประชุมภายใต้หัวข้อหลักคือ “Strengthening Multilateralism for Shared Growth” ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ภายหลังโควิด-19 ที่ต้องมุ่งสร้างพหุภาคีนิยมที่เข้มแข็งและยั่งยืน การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ผู้นำยืนยันถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนของทั้งสองภูมิภาค ส่งเสริม ASEM ในเวทีโลก เพื่อรับมือกับประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งกัมพูชายืนยันให้ความสำคัญกับการรักษาความร่วมมือในกรอบ ASEM
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยินดีในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการจัดตั้งการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป หรือASEM ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนที่กรุงเทพมหานคร จากหัวข้อหลักของการหารือเรื่อง “การเสริมสร้างพหุภาคีนิยมเพื่อการเติบโตร่วมกัน” ไทยเชื่อมั่นว่าพหุภาคีนิยมเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือที่จะนำพาโลกผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งความร่วมมือพหุภาคีไม่ใช่แค่การมารวมตัวกันเพื่อหารือ แต่ต้องมีความร่วมมือที่จับต้องได้บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมของประเทศสมาชิก ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจึงได้นำเสนอความร่วมมือ 5 ด้านตามแนวทาง 5P ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ ดังนี้
ประการที่ 1 People ต้องสร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชน ASEM กว่าสี่พันล้านคน ทั้งในด้านสุขภาพ ความกินดีอยู่ดี และความปลอดภัยในชีวิต ยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึง ต้องเร่งการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และรวดเร็ว และส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ประการที่ 2 Partnership เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมระหว่างกัน บนพื้นฐานความเชื่อใจ เคารพซึ่งกันและกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้ง การเสริมสร้างหุ้นส่วนพหุภาคีต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต ภายใต้กรอบองค์การระหว่างประเทศ
ประการที่ 3 Peace ความร่วมมือระหว่างกันของ ASEM จะต้องเสริมสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เอื้อต่อสันติภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระดับโลกได้
ประการที่ 4 Prosperity ต้องเติบโตร่วมกัน โดยยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีบนกฎกติกาขององค์การการค้าโลก ให้ความสำคัญกับการปรับตัวสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเฉพาะ upskill และ reskill ของภาคแรงงาน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจน เสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานโลก
ประการที่ 5 Planet ต้องร่วมมือกันรักษาโลกใบนี้ โดยใช้แนวทางการสร้างสมดุลในการพัฒนา เพื่อให้ทุกประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวเเสดงความหวังว่า การประชุมครั้งนี้จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิด เพื่อโลกที่มีความสมดุล สงบ สันติ มั่งคั่ง และยั่งยืน