คลัง ขยายเพดานหนี้เป็น 35% ช่วยเหลือเกษตรกร เตรียมชงครม. 30 พ.ย.นี้
24 พ.ย. 2564, 17:36
วันนี้ ( 24 พ.ย.64 ) เวลา 11.25 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 2/2564 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมการแถลงฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับกรอบอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องชดเชยตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 ของกรอบเงินงบประมาณประจำปี เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับปีงบประมาณ 2565 เพื่อเปิดวงเงินให้สำหรับโครงการประกันรายได้พืชผล ซึ่งจะทำให้รองรับการประกันรายได้ข้าว ยางพารา ในส่วนที่สองที่รอวงเงินอยู่ โดยเมื่อครบกำหนด 1 ปี จะกลับไปที่อัตราเดิมที่ร้อยละ 30 เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล ซึ่งในการจะกลับไปที่อัตราร้อยละ 30 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ จะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐอีกครั้ง เพื่อประเมินผลวงเงินในส่วนที่ได้เปิดเพิ่มมาอีกร้อยะ 5 อย่างไรก็ตาม ยังมีวงเงินที่ค้างอยู่ในโครงการที่ได้อนุมัติแล้วแต่ยังไม่ได้ปิดโครงการ ที่จะต้องมีการติดตามให้มีการปิดโครงการนำเงินคืนกลับมาให้มาตรา 28 จากนั้นจะได้พิจารณามาตรการในปี 2566 ต่อไป
ที่ประชุมยังเห็นชอบขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินจากงบประมาณงบกลางฯ และตั้งงบประมาณคืนให้ในปีงบประมาณถัดไป ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 ได้ตั้งงบประมาณคืนกลับมาให้ 76,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินตามมาตรา 28 ยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ภายใน 1-2 วัน จะมีประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐขยายกรอบวงเงินงบประมาณตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 28 ออกไปเป็นร้อยละ 35 และในสัปดาห์หน้า คณะรัฐมนตรีจะได้พิจารณาเรื่องการขออนุมัติโครงการประกันรายได้ข้าวในส่วนที่เหลือ รวมทั้งโครงการประกันรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ไปพร้อมกัน โดยกระบวนการจ่ายเงินมีการกำหนดไว้แล้วผ่านกลไกของ ธ.ก.ส. คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 64 ทั้งนี้ ณ วันที่ 19 พ.ย. 64 มีวงเงินคงเหลืออยู่ที่ 5,360 ล้านบาท เมื่อเปิดวงเงินอีก 5% จะทำให้ได้วงเงินอีก 155,000 ล้านบาท รวมเป็น 160,360 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการจ่ายชดเชยประกันรายได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้แนวนโยบายโครงการประกันรายได้ในปี 2566 ว่า จะต้องมีการประเมินและพิจารณาในเรื่องรูปแบบการประกันรายได้ รวมทั้งวิธีการปฏิบัติ มาตรการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เพื่อไม่ให้เป็นภาระเรื่องงบประมาณ และนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะพี่น้องชาวนาที่รอรับเงินประกันรายได้ตามนโยบายของรัฐบาลโดยมติที่ประชุมวันนี้จะทำให้คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติโครงการประกันรายได้ในส่วนที่เหลือได้ภายในวันอังคารหน้า และจะดำเนินการจ่ายเงินงวดต่อไปตามขั้นตอนได้ในไม่ช้า ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถส่งรายชื่อเกษตรกรให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายเงินได้หมดภายใน ธ.ค.64
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวด้วยว่า โครงการประกันพืชผล โดยเฉพาะเรื่องข้าว มีการใช้งบประมาณค่อนข้างมากทุกปี ที่ประชุมจึงมีมติให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ ได้พิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง ในการบรรจุโครงการประกันพืชผลไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นงบประมาณปกติ เพื่อไม่ให้มีการสะสมภาระการคลังในมาตรา 28 ทั้งนี้ มาตรา 28 นั้นไม่ได้เป็นเฉพาะสนับสนุนในเรื่องประกันพืชผล ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้เงิน เช่น มาตรการสินเชื่อสถาบันการเงินของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทั้งธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารเอสเอ็มอี บสย. ที่ปกติในการปล่อยสินเชื่อจะมีการขอวงเงินชดเชยสำหรับกรณีที่เป็น NPL ซึ่งล่าสุดธนาคารออมสินได้ออกมาตรการสร้างงาน สร้างอาชีพ และขอวงเงินชดเชยไว้ที่ 30% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการชดเชยอัตราค่าบริการสาธารณะ PSO และอื่น ๆ ซึ่งกระทรวงการคลังจะร่วมกับสำนักงบประมาณ เร่งรัดโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้ว ให้คืนวงเงินกลับมาหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ เพื่อจะเปิดวงเงินสำหรับความจำเป็นที่จะต้องใช้ในอนาคต