กาญจนบุรีประกาศเตือน ฝน-หนาว 7-13 พ.ย. ให้ประชาชนดูแลสุขภาพ
7 พ.ย. 2564, 12:14
วันนี้ 7 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ร้อยตรีพงศธร ศิริสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้อำนวยการจังหวัด เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสายารณภัยกลาง แจ้งว่ากรมยุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (182/2564)สงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรกหลังจากนั้นจะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส
โดยพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ระว่างวันที่ 7-13 พฤศจิกายน 2564 จังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 7-13 พฤศจิกายน 2564 ด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม ป้องกัน รับมือ และลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น จึงขอให้ดำเนินการดังนี้
1.เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และแจ้งประชาชนในพื้นที่ให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
2.หากเกิดสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันที โดยประสานจัดกำลังจิตอาสาเข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย พร้อมทั้งแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรีทราบทันที ทางแอพพลิเคชันไลน์ รายงานสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรีและหางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ dpm_kan@hotmail.co.th และ สำหรับอำเภอ ขอให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ (เทศบาลตำบลแสะองค์การบริหารส่วนตำบล) ทราบและดำเนินการด้วย
ส่วน นายแพทย์ชายชาติ กิติยานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้อากาศเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวอาจเจ็บป่วยได้ง่าย โรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงฤดูหนาวส่วนใหญ่มักเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งชอบอากาศหนาวเย็น
นายแพทย์ชายชาติ กิติยานนท์ กล่าวต่อว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เตรียมพร้อมมาตรการในการดูแลประชาชนในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในช่วงฤดูหนาว 2.การควบคุมโรค ในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ โดยทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) และ 3.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจําตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต และโรคโลหิตจาง เป็นต้น
ในการป้องกันตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยในช่วงฤดูหนาว ควรสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายเพื่อป้องกันโรค โดยสวมเสื้อผ้าหนา หรือสวมเสื้อผ้าหลายๆ ชั้น สวมผ้าพันคอ หมวก และถุงเท้า พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มกินผักและผลไม้หลากสี เช่น ผักคะน้า ตำลึง ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะละกอสุก ส้ม ฝรั่ง เป็นต้น ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที และกินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ จะช่วยป้องกันโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ และโรคทางเดินหายใจได้
นอกจากนี้ เมื่ออากาศหนาวหลายคนเริ่มเตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันหนาว จึงอยากฝากเตือนประชาชนเรื่องการซื้อเสื้อผ้ามือสองมาใช้ เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา หรือพยาธิ ซึ่งอาจติดต่อมายังผู้สวมใส่ได้ ในการเลือกซื้อ และใช้เสื้อกันหนาวมือสองผู้ขายไม่ควรวางเสื้อผ้ากองกับพื้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีฝุ่นละออง และแมลงชนิดต่างๆ เข้าไปอาศัยในเสื้อผ้าได้
ส่วนประชาชนขณะที่เลือกซื้อควรระวังการสูดฝุ่นละอองที่มากับเสื้อผ้า เลือกเสื้อผ้าที่มีสภาพดี ตรวจสอบรอยด่างดำ รอยคราบสกปรก รวมไปถึงกลิ่นอับชื้น ควรหลีกเลี่ยงผ้าที่ทำจากหนังสัตว์ประเภทขนฟู เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
และที่สำคัญ ก่อนนำเสื้อผ้ามือสองมาสวมใส่ขอให้ทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคหรือแมลงนำโรคที่ติดมากับเสื้อผ้า โดยการซัก หรือแช่น้ำร้อน หรือการต้มในน้ำเดือด หรือซักด้วยผงซักฟอก/น้ำยาซักผ้า และตากในที่มีแสงแดดจัดให้แห้ง จะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมากับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเหล่านั้นได้ ส่วนผู้ที่มีอาการคันจากเชื้อราในร่มผ้าหลังใช้เสื้อกันหนาวมือสอง ไม่ควรแคะ หรือแกะเกา หรือปล่อยไว้จนลุกลาม ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี