"เกษตรกร" ปลูกข้าวไร่ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ
6 พ.ย. 2564, 08:54
วันที่ 5 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ร่วมแถลงข่าวกับเครือข่ายและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ 1.ผศ.วัชระ ศิลป์เสวตร์ ผู้ช่วยอธิการบดี สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 2. รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา หัวหน้าโครงการวิจัยข้าวไร่ สจล.วิทยาเขตชุมพร 3.นายอร่าม แก้วนิล ผอ.สำนักนวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง สำนักพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์กรมหาชน) 4.นายวิทยา คำภูแสน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 5.น.ส.สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) 6.นายทวีวัตร เครือสาย ผู้อำนวยการสมาคมประชาสังคมชุมพร 7.นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ หัวหน้าสำนักงานเกษตรกรจังหวัดชุมพร และ 8.นายสัญชัย หนูสุด นายกเทศมนตรีตำบลนาชะอัง ทั้งนี้เพื่อเตรียมจัดงานมหกรรมข้าวไร่ 4 ภาค (ครั้งที่ 3) ในวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2564 นี้
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาที่สำรวจ วิจัย อนุรักษ์ และคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ของข้าวไร่พันธุ์ดี รวมถึงข้าวไร่พันธุ์ท้องถิ่น มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับครัวเรือนและชุมชน ซึ่งได้ เผยแพร่ความรู้และแจกจ่ายพันธุ์ข้าวไร่ไปสู่เกษตรกรในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ พันธุ์ข้าวไร่ เป็นพันธุกรรมทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่จะมีข้าวไว้ปลูกเพื่อความยั่งยืนทางอาหาร สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ต่อไป
ดังนั้น สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จึงได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมข้าวไร่ 4 ภาค ร่วมกับเครือข่าย และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2564 ณ สถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร และทางระบบออนไลน์ ZOOM เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านข้าวไร่ วิถีการจัดการข้าวไร่ของแต่ละภูมิภาค ร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยี และ องค์ความรู้ด้านข้าวไร่ร่วมกัน ทั้งรูปแบบการผลิตเพื่อบริโภค การปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์และการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไร่ กับการรับมือภาวะวิกฤติ อีกทั้งการนำองค์ความรู้ด้านศาสตร์พระราชามาใช้ร่วมกับการปลูกข้าวไร่ การเพิ่มศักยภาพ การผลิตและผลิตภัณฑ์ด้านข้าวไร่ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น สามารถช่วยให้ภาคการเกษตรยกระดับอาชีพที่มีฐานะเศรษฐกิจ ดีขึ้น และมีความเชื่อมั่นในอาชีพ สามารถเข้าหลักเกณฑ์ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ภาคการเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ทางด้าน รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา หัวหน้าโครงการวิจัยข้าวไร่ สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวว่า “ข้าวไร่เป็นพืชที่มีความสำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของครัวเรือนในเขตชนบทในสภาพพื้นที่ดอนไม่มีน้ำขังของประเทศไทย โดยผลิตเพื่อเป็นอาหารหลักใช้บริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือจากการบริโภคจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น รวมถึงข้าวไร่มีศักยภาพต่อการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นประเด็นท้าทายต่อการอยู่รอดของเกษตรกรในสถานการณ์ปัจจุบัน การปลูกข้าวไร่ในพื้นที่ภาคใต้พบเห็นโดยทั่วไปในลักษณะปลูกเป็นพืชแซมในพืชหลักที่เป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไม้ในช่วง อายุ 1-3 ปี ในขณะที่พืชเหล่านี้ยังไม่มีร่มเงาและบังแสงแดดคลุมพื้นที่ทั้งหมด
ดังนั้น เมื่อยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไม้ผล อายุเลย 3 ปีขึ้นไป ทำให้พื้นที่ระหว่างต้นพืชเหล่านี้ว่าง การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้น้อย ประกอบกับเกิดผลกระทบจากราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าวตกต่ำ จำเป็นที่ต้องหาพืชที่สามารถปลูกแซมในสวนดังกล่าวได้ ซึ่งมีพืชหลายชนิดที่สามารถปลูกแซมได้ นักวิจัยของสจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้คัดเลือกพันธุ์ข้าวไร่ทนร่มเงาเพื่อ ที่สามารถปลูกได้ใน สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว ที่มีอายุมากกว่า 10 ปี เพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกแซมในระหว่างแถวพืชหลักได้”
ทั้งนี้ รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา หัวหน้าโครงการวิจัยข้าวไร่ สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ณ ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ สืบเนื่องจากว่าเมื่อปี 2550 ในขณะที่ปล่อยพันข้าวออกไปโดยเฉพาะพันธุ์ข้าวไร่กับประธานกลุ่มโดยได้ทำสัญญาตกลงกันว่า ขอให้กลุ่มที่นำข้าวไร่ชุมพรไปปลูกต้องจำหน่ายข้าวกิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นข้าวสาร ณ เวลานั้นจนกระทั่งปัจจุบันข้อตกลงร่วมกันระหว่างเครือข่ายของเราอย่าให้ราคา สูงไปมากกว่านี้เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยหันมาบริโภคข้าวที่มีคุณภาพสูงด้วย
ทำไมข้าวไร่ต้องกิโลกรัมละ 60 บาท เพราะว่าเป็นข้าวที่ผลิตยากระบบการปลูกการจัดการยากกว่าข้าวนา ฉะนั้นการดูแลรักษาต้นทุนเหล่านี้ ขณะเดียวกันทางสจล.ค้นหาเทคโนโลยี เช่นเครื่องปลูก เครื่องสี เหล่านี้นำมาสนับสนุนเครือข่าวในพื้นที่อีกต่อเพื่อลดต้นทุนค่าแรงงาน อีกทั้งให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจในการปลูกข้าวไร่มากขึ้นเมื่อเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆในการปลูกข้าวไร่ซึ่งจะไม่เหนื่อยเหมือนวิถีเดิมๆ