นายกฯ ประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี เสนอ 4 ประเด็นกระชับสัมพันธ์ 2 ประเทศ
26 ต.ค. 2564, 15:15
วันนี้ ( 26 ต.ค.64 ) เวลา 12.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิกอาเซียน และนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22 มีการหารือในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ที่มีความแนบแน่นและคืบหน้ามาโดยตลอด ความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และความมุ่งหวังในการสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยเฉพาะนโยบายมุ่งใต้ใหม่และนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของอาเซียนที่ไม่ประสงค์ให้ภูมิภาคเป็นพื้นที่ของการแข่งขัน และการเผชิญหน้า โดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่จะร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงข้อริเริ่มต่าง ๆ ของอาเซียน อาทิ มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และกรอบการพื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน กับนโยบายมุ่งใต้ใหม่และนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัสของสาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 4 ประเด็นสำคัญ สำหรับก้าวต่อไปที่มั่นคงในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ดังนี้
ประการแรก คือ การยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยที่โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน การรับมือและกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมได้นั้น ต้องเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนา ไทยขอขอบคุณที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีสนับสนุนสนับสนุนเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 ในวันนี้ และนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าการสนับสนุนอย่างจริงจังของสาธารณรัฐเกาหลีจะมีส่วนต่อการผลิต วิจัย และพัฒนาวัคซีน ตลอดจนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในภูมิภาคต่อไป
ประการที่สอง การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต และควรมุ่งเน้นเรื่องการฟื้นฟูและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยกำลังมุ่งสู่ Next Normal ด้วยการพลิกโฉมประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution - 4IR) ควรมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาด เมืองอัจฉริยะ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ ไทยจึงขอสนับสนุนข้อริเริ่มของสาธารณรัฐเกาหลีในการจัดตั้งศูนย์ในด้านต่าง ๆ ภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัสใน 4 สาขาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือที่กล่าวมาได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ทุกฝ่ายควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ขณะเดียวกัน ก็มุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ผ่านกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือตามแนวทางใหม่ อาทิ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบาย “Green New Deal” ของประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี
ประการที่สาม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนและคนรุ่นใหม่ โดยการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านสื่อยุคใหม่และสื่อดิจิทัล ทั้งดนตรี ภาพยนตร์ กีฬา ตลอดจนศิลปินดารา รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากศูนย์ต่าง ๆ อาทิ ศูนย์อาเซียน-เกาหลี ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนที่กรุงเทพฯ และศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนที่นครปูซาน
นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมสาธารณรัฐเกาหลีที่ใช้ “soft power” เพื่อผลักดันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงประเด็นสําคัญระดับโลกได้อย่างแนบเนียน ทั้งการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนา ที่ยั่งยืน และการสร้างความหวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงการแสดงผลงานดนตรีในช่วงพิธีเปิดกิจกรรม SDG Moment ครั้งที่ 2 ในห้วงการประชุม UNGA ครั้งที่ 76 ที่ผ่านมา
ประการสุดท้าย การมุ่งเน้นการสร้างสันติภาพเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ไทยพร้อมร่วมมือกับอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูและการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลี ในการสร้างสันติภาพที่ถาวรบนคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งเล็งเห็นความจำเป็นของการรักษาพลวัตของการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ไทยหวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะกลับเข้าสู่การเจรจาโดยเร็ว เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์และมีความรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีในการกล่าวในพิธีเปิดกิกรรม SDG Moment ว่า “ภัยพิบัติทั้งหมดในโลกมีความเชื่อมโยงถึงกัน” และ “หากปัญหาเชื่อมโยงถึงกัน ทางแก้ไขก็เป็นเช่นนั้น” โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า สันติสุข ความปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองของโลกก็เชื่อมโยงกันด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงขอยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะร่วมแก้ไขปัญหาและฟันฝ่าความท้าทายต่าง ๆ ไปพร้อมกับทุกประเทศต่อไป