รองอธิบดีอัยการ แนะปมพ่อเลี้ยงทำร้ายลูก หากแม่ช่วยได้แต่ไม่ช่วยอาจผิดกฎหมาย
21 ต.ค. 2564, 18:21
วันที่ 21 ตุลาคม 2564 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลเเขวง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า พ่อเลี้ยงทำร้ายลูกเลี้ยง…ตาย แม่ ควรทำอย่างไรถ้าลูกถูกทำร้าย..?? หมดเวลาทำร้ายเด็ก..!! วิธีแก้ปัญหาเด็กถูกทำร้ายในครัวเรือน
มีนักข่าวโทรมาสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นข่าว ข้อเท็จจริงว่าพ่อเลี้ยงนายวิรัช ได้ดื่มสุราจนเมา แล้วจับ ด.ช.บี มัดด้วยเคเบิ้ลไทร์ และโยงด้วยสายไฟไว้กับขื่อบ้านเฆี่ยนตีด้วยสายไฟ หลายครั้ง แล้วโยงไว้อย่างนั้นไม่ยอมปล่อยจากการพันธนาการ เสร็จแล้ว ตัวนายวิรัช เองได้เข้าไปหลับนอน กระทั่งตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ราว เที่ยงคืน นายวิรัช ออกมาเห็น ด.ช.บี ยืนหลับ ด้วยอาการบาดเจ็บและอ่อนเพลีย แต่หาได้ใสใจไม่ กลับบังคับให้ ด.ช.บี ปัสสาวะใส่ขวด แล้วบังคับให้ดื่ม ปัสสาวะตัวเอง จากนั้นได้ใช้เท้าเตะ ซ้ำตามร่างกายอีกหลายครั้ง จน ด.ช.บี แน่นิ่งไป จนเด็กถึงแก่ความตาย
นางยุวดี อรรคชัย แม่ของ ด.ช.บี ผู้เสียชีวิตมาแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.หนองแค และสอบถามเบื้องต้นว่า เพราะเหตุใดนายวิรัช สามีจึงมัก ทำร้าย ด.ช.เอ เป็นประจำแล้วทำไม ไม่ห้ามสามี นางยุวดี อ้างว่าที่ นายวิรัช ทุบตี ก็เพราะ ด.ช.เอ ไม่ดูหนังสือเรียน ไม่เรียนออนไลน์ ที่ไม่ห้ามเพราะกลัว นายวิรัช ทำร้ายตน จึงไม่กล้า
ไม่กล้าห้ามสามีไม่ให้ทำร้ายลูก เพราะกลัวถูกทำร้าย รายอื่นๆ เคยมีกลัวสามีไม่เลี้ยงดูแล้วจะทิ้งไป เพราะต้องพึ่งพาอาศัยทางการเงิน ข่าวแบบนี้เราเห็นกันบ่อย ฝากข้อคิดวิธีแก้ปัญหาให้คุณแม่เพื่อให้คุณแม่ทั้งหลายไม่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาเสียเอง เพราะตามกฏหมายคุณแม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู หมายถึงต้องดูแลความปลอดภัยให้ลูกด้วย การปล่อยให้ลูกตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ช่วยได้แล้วไม่ช่วยผิดกฎหมายมาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แม่อาจจะผิดกฏหมายมาตรานี้ได้ถ้าสอบสวนได้ความว่าช่วยได้แล้วไม่ช่วยซึ่งกระบวนการจะต้องสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน
วิธีช่วยลูก.. ถ้าสามีทำร้าย ให้แจ้งเจ้าพนักงานปกครองท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ เรื่องนี้เป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ต้องเข้ามาดูแล แยกเด็กออกจากครอบครัวไปเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กถูกทำร้าย โดยกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวบอกว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ย้ำนะครับว่าทุกคนแปลว่าเราเป็นชาวบ้านเรื่องแบบนี้ต้องเกี่ยวต้องยุ่งถ้าเห็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเพื่อนบ้านคนในหมู่บ้านเราต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นได้เลยเพื่อระงับเหตุ หรือไปปรึกษาอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย มีทุกจังหวัดใกล้บ้าน และสำนักงานอัยการยังมีศูนย์ คุ้มครองเด็กประจำอัยการทั้ง 9 ภาค ที่จะช่วยดูแลปัญหาเด็กและเยาวชนและปัญหาในครอบครัวให้กับประชาชน แวะเข้าไปปรึกษาจะหาทางออกเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงเช่นนี้ได้ คุณแม่จะได้ไม่ต้องอดทนต่อการเห็นลูกถูกทำร้ายในครอบครัว อัยการจะช่วยติดต่อรับเด็กไปดูแล ประสานให้พัฒนาความมั่นคงและสังคมในทุกจังหวัดดูแลเด็กได้ แยกเด็กไปอยู่ในศูนย์พักพิงสำหรับเด็ก หรือบ้านพักฉุกเฉิน ที่สามารถช่วยเด็กออกมาจากเหตุการณ์ก่อนได้ และแก้ไขให้ปัญหาชีวิตในครอบครัวเดินต่อไปกันได้ จะได้ไม่ต้องเกิดเหตุการณ์สูญเสียเช่นคดีนี้
มีตัวอย่างเช่นในอดีตคุณบุ๋มปนัดดา ได้ติดต่อผ่านผมแจ้งศูนย์คุ้มครองเด็กของอัยการประจำภาคเก้า ที่ จ. สงขลา เกี่ยวกับเหตุเด็กถูกโมเดลลิ่ง ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งศูนย์อัยการคุ้มครองเด็กประจำอัยการภาคเก้า ได้เข้าช่วยเหลือให้คำแนะนำกับทางผู้เสียหาย ไปแจ้งความดำเนินคดีวันนี้ผู้ต้องหาได้ถูกดำเนินคดีอยู่ในศาลจังหวัดสงขลาแล้ว อัยการใช้วิธีการตามกฏหมายคุ้มครองเด็ก จะเห็นได้ว่าไม่มีข่าวปรากฏเลยว่าเด็กเป็นใคร แม้แต่บิดามารดาเด็กเป็นใครก็จะไม่ปรากฏเป็นข่าว เรื่องเด็กและเรื่องในครอบครัว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีปัญหาโปรดไปปรึกษาที่อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ์ ใกล้บ้านมีทุกจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำและแก้ปัญหาได้อย่าปล่อยให้ลุกลาม บานปลายจนถึงคดีอาญาร้ายแรง เราเห็นข่าวเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กถูกทำร้าย เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องเพิกเฉย อย่าเพิกเฉยนะครับ ไปเถอะครับอัยการจะช่วยดูแลแก้ปัญหาไม่ให้เกิดเหตุร้ายจนถึงคดีอาญาร้ายแรงหรือต้องสูญเสียเด็กไป
อัยการช่วยได้ งานด้านนี้อัยการทำกันเป็นประจำอยู่แล้วครับ
ที่มา khaosod, sanook, โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง