เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน" ประชุมเสนอทางออกเพื่อร่วมเสนอผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก


29 ส.ค. 2562, 13:39



"ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน" ประชุมเสนอทางออกเพื่อร่วมเสนอผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก




 

วันนี้ 29 ส.ค. 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในพื้นที่ป่าแก่งกระจานมาเนิ่นนานจาก 4 หมู่บ้าน คือบ้านโป่งลึก บ้านบางกลอย บ้านห้วยกระซู่ และบ้านป่าเด็ง ในอำเภอหนองหญ้าปล้องและอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ร่วม 40 คน ประชุมเสนอทางออกเพื่อร่วมเสนอผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

 

ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานมานับร้อยปี ไม่ขัดข้องที่ทางรัฐบาลไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเสนอผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ  โดยยินดีให้ความร่วมมือเพื่อเสนอและคุ้มครองรักษามรดกโลก  ซึ่งชาวกะเหรี่ยงยืนยันข้อเสนอ 6 ข้อเพื่อขอมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและรักษามรดกโลก

 

ข้อเสนอของชาวกะเหรี่ยง 6 ข้อ มีดังนี้

1. ต้องให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงคือผู้กำหนดพื้นที่ทางวัฒนธรรมการทำกินโดยระบบไร่หมุนเวียน ในวงรอบ ไร่หมุนเวียน 10 ปีด้วยตนเอง ในพื้นที่ดั้งเดิมตามวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง

2. ต้องกำหนดให้พื้นที่ห้วยกระซู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย ไร่หมุนเวียนร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่

3. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้เลือกพื้นที่อาศัยด้วยตนเองในพื้นที่ดั้งเดิม

4. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บริหารดูแลจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและไร่หมุนเวียนด้วยตนเอง ในรูปแบบคณะกรรมการชุมชน

5. ต้องยอมรับวิถีวัฒนธรรม สิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

6. ในการเสนอพื้นที่กลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเพื่อเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ต่อคณะกรรมการมรดกโลก ต้องเป็นการเสนอร่วมกันโดยรัฐบาลไทยกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี โดยมีตัวแทนเครือข่ายไปร่วมเวทีเสนอด้วย

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากข้อเสนอทั้ง 6 ข้อแล้ว ชาวบ้านยังกังวลที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังมิได้ดำเนินตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ คือให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  ตลอดจนการสืบสวนสอบสวนกรณีที่บิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าแล้วสูญหายไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ไม่มีความคืบหน้า  หวังว่าทางรัฐบาลจะดำเนินการทั้งสองเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนก่อนการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีกรอบ

 

 

 



สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ประเทศไทยขอให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก (UNESCO)  ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน พิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มผืนป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่มติคณะกรรมการมรดกโลกให้เลื่อนการพิจารณากลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกออกไปก่อน โดยมีคำแนะนำ 3 ข้อ ให้ไทยดำเนินการภายใน 3 ปี คือ

1. ให้ทำงานร่วมกับประเทศพม่าเกี่ยวกับเขตแดน

2. ให้เตรียมผลการศึกษาเปรียบเทียบกรณีการลดขนาดพื้นที่ว่าจะมีผลต่อคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่หรือไม่อย่างไร

3. ให้แสดงว่าข้อกังวลทั้งหมดเกี่ยวกับชุมชนกะเหรี่ยงถูกแก้ไขโดยผ่านการหารืออย่างเต็มที่กับชุมชน ตามแนวทางปฏิบัติการ ย่อหน้าที่ 123

 

 


คาดกันว่าประเทศไทยจะยืนยันเสนอผืนป่าเป็นมรดกโลกเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งในปีหน้า 2563 โดยส่งข้อมูลเอกสารถึงคณะกรรมการมรดกโลกภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563  ซึ่งทางประเทศไทยจะจัดทำข้อมูลดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการมรดกโลกเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้

 

 

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.