มท.1 กำชับทุกจังหวัดเตรียมรับมือสถานการณ์ ผลกระทบจากพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่"
24 ก.ย. 2564, 21:32
วันนี้ ( 24 ก.ย.64 ) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า เมื่อเวลา 10:00 น. ของวันนี้ (24 ก.ย.64) พายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่" บริเวณเมืองสะหวันนะเขต ประเทศลาว มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และผลกระทบจากพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่" จึงได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ถือปฏิบัติตามแนวทางตลอดจนข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยเคร่งครัด พร้อมดำเนินการตามแนวทาง ได้แก่
1) แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ พร้อมแจ้งแนวทางการปฏิบัติและช่องทางการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง โดยให้คณะทำงานติดตามสถานการณ์ของจังหวัด ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ที่อาจส่งผลต่อการเกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจของผู้อำนวยการในแต่ละระดับ
2) กำชับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ในการแบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เตรียมพร้อมในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้มีความพร้อมเผชิญเหตุช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
3) เมื่อเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการจากหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ 4) หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ ให้สั่งการอพยพประชาชนพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที และให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ พร้อมดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 และ 5)
สำหรับจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ให้มอบหมายหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานที่ดังกล่าว กำหนดมาตรการในการแจ้งเตือน การปิดกั้นหรือห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ สำหรับพื้นที่ติดทะเล ชายหาดต่าง ๆ ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในการนำเรือเข้าที่กำบังและห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีเรือขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่นอกชายฝั่งที่อาจจะเป็นอันตราย ให้นำเรือดังกล่าวกลับเข้าฝั่งเพื่อความปลอดภัย ตลอดจนกำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล สื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังและห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด โดยหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว หรือต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายด่วนสาธารณภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง