เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สืบสานประเพณี ! "ชุมชนมอญบางขันหมาก" ร่วมตักบาตรน้ำผึ้งบุญเดือนสิบ อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ (คลิป)


21 ก.ย. 2564, 13:16



สืบสานประเพณี ! "ชุมชนมอญบางขันหมาก" ร่วมตักบาตรน้ำผึ้งบุญเดือนสิบ อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ (คลิป)




ทุกวันพระขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี ชาวมอญมีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน ที่ชุมชนมอญบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ก็เช่นกัน ยังรักษาประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งไว้เป็นอย่างดี

โดยมีความเชื่อเหมือนกับชาวมอญทั่วไปในเรื่องอานิสงส์แห่งการถวายน้ำผึ้งแก่พระภิกษุสงฆ์สืบเนื่องมาจากคติที่ว่า ครั้งหนึ่งมีพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งรับบิณฑบาตอยู่ มีชายชาวบ้านป่าคนหนึ่งเกิดศรัทธาในพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปนั้นอย่างแรงกล้า คิดอยากจะถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าบ้าง แต่ด้วยตนเองมีฐานะยากจนไม่มีสิ่งใดจะถวายนอกจากน้ำผึ้งจำนวนหนึ่งที่ตนมีอยู่น้อยนิด ด้วยจิตศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมจึงรินน้ำผึ้งลงในบาตรของพระปัจเจกฯ ขณะนั้น เกิดเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น น้ำผึ้งจำนวนน้อยนั้นเกิดเพิ่มพูนขึ้นจนเต็มบาตรและล้นบาตรในที่สุด มีหญิงชาวบ้านนางหนึ่งกำลังทอผ้าอยู่ เห็นเหตุการณ์ทุกอย่างโดยตลอดเกิดจิตศรัทธาและเกรงว่าน้ำผึ้งที่ล้นบาตรนั้นจะเปื้อนมือพระ จึงนำผ้าที่ทออยู่ถวายเพื่อซับน้ำผึ้งที่ล้นนั้น

ด้วยกุศลเจตนาและอานิสงส์แห่งการถวายน้ำผึ้งเป็นทานในครั้งนั้นเป็นเหตุ ชายหญิงคู่นั้นหลังละสังขารแล้วได้อุบัติใหม่ในโลกมนุษย์ ชายผู้ถวายน้ำผึ้งเกิดเป็นพระราชาผู้มีความเข้มแข็งบริบูรณ์มั่งคั่ง ส่วนหญิงผู้ถวายผ้าเช็ดบาตรได้เกิดเป็นธิดาของพระราชาอีกเมืองหนึ่งมีความงดงามและความมั่งคั่งเช่นกัน



อีกนัยหนึ่งว่า ในอดีตกาล พระสีวลีได้ถือกำหนดเป็นชาวบ้านในชนบทแห่งหนึ่ง วันหนึ่งได้ไปในพระนครระหว่างทางกลางป่าได้พบรวงผึ้งรังหนึ่ง จึงไล่ตัวผึ้งให้หนีไปแล้วตัดกิ่งไม้ถือรวงผึ้งเข้าไปในพระนคร

ขณะนั้น พระราชาและชาวเมืองกำลังแข่งกันทำบุญถวายทานแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า พร้อมด้วยหมู่พระสงฆ์ โดยจัดสรรสิ่งของวัตถุทานอันประณีตถวายแข่งกันถึง 6 ครั้งก็ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ชาวเมืองจึงช่วยกันดูสิ่งของวัตถุทานที่ถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้าว่าขาดสิ่งใดบ้าง พร้อมทั้งให้คนไปดูที่ประตูเมืองว่าจะมีใครนำสิ่งของอันนอกเหนือจากที่มีอยู่มาขายบ้าง เพราะเกรงว่าพระราชาจะซื้อสิ่งของเหล่านั้นแล้วนำมาถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า ฝ่ายตนก็จักแพ้ในการถวายทานในครั้งนี้

ขณะนั้นชายหนุ่ม (พระสีวลี) ถือรวงผึ้งเดินเข้าประตูเมืองมา คนเฝ้าประตูเห็นเข้าจึงขอซื้อรวงผึ้งในราคาที่สูงมากเพราะไม่มีใครนำรวงผึ้งมาถวายพระเลย ชายหนุ่มผู้เป็นเจ้าของรวงผึ้งสงสัยจึงถามเหตุ ชายคนเฝ้าประตูจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังโดยตลอด ชายผู้เป็นเจ้าของรวงผึ้งไม่ยอมขายแต่ขอร่วมถวายทานครั้งนี้ด้วย ชาวเมืองต่างก็ปลื้มปิติและยินดีกับเจ้าของรวงผึ้งนั้น จึงช่วยกันนำรวงผึ้งมาบีบคั้นน้ำผึ้งใส่ถาดทองคำใบใหญ่ ผสมกับนมเนยคลุกเคล้ากันจนรสดีเสร็จแล้วจึงนำไปถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั้งหลายอย่างทั่วถึง ด้วยอานิสงส์ของการถวายทานด้วยน้ำผึ้งครั้งนั้น เมื่อสิ้นอายุขัยของชายผู้เป็นเจ้าของรวงผึ้งแล้วได้บังเกิดในเทวโลกท่องเที่ยวเสวยสุขอยู่ช้านาน แล้วมาจุติมาเป็นพระราชาในกรุงพาราณสีและเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วได้อุบัติเป็นพระราชกุมารในราชวงศ์ศากยราช มีพระนางสุปปวาสาเป็นพระมารดา

เมื่ออยู่ในครรภ์ ได้บันดาลโชคลาภให้แก่พระบิดาและพระมารดาเป็นอันมาก เมื่อประสูติแล้วจึงได้รับพระนามว่า "สีวลีกุมาร” เมื่อเจริญวัยแล้วได้ออกผนวชในสำนักของพระสารีบุตรและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์สมบูรณ์ด้วยปัจจัยลาภ เป็นที่พึ่งของพระสงฆ์หมู่ใหญ่ในสมัยพุทธกาล


น้ำผึ้งนับเป็นทิพย์โอสถ เป็นหนึ่งในเภสัช 5 ตามพุทธานุญาต ที่สามารถนำมาบริโภคบำรุงชีวิต เป็นยาอายุวัฒนะ มีสรรพคุณทางยารักษาโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงได้ ส่วนการตักบาตรด้วยน้ำตาลทรายขาวที่นิยมคู่กันกับการตักบาตรน้ำผึ้งนั้นอาจปรับเปลี่ยนจากน้ำอ้อยซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเภสัช 5 อันประกอบด้วย เนยใส เนยข้น  น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นน้ำตาลแทนเพราะทำมาจากอ้อยเช่นกัน เหมือนชุมชนมอญสังขละบุรี ที่มีการตักบาตรด้วยน้ำมันงาคู่กับน้ำผึ้ง ในชุมชนมอญบางขันหมากนั้นนิยมใช้น้ำตาลทรายขาว คู่กับน้ำผึ้ง เพราะน้ำอ้อยหาได้ยากจึงให้น้ำตาลทรายแทน

ในการตักบาตรน้ำผึ้ง ทางวัดมักจัดภาชนะคือบาตรไว้สำหรับให้ญาติโยมใส่น้ำผึ้ง ซึ่งยังคงแบบเดิมไว้คือนิยมนำน้ำผึ้งนำมารินใส่บาตรตามจำนวนพระสงฆ์ของวัดนั้นๆ  และจัดถาดใบใหญ่ไว้สำหรับใส่น้ำตาลทรายคู่กัน  และนิยมนำผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ มารองไว้ที่ฐานตั้งบาตร ตามคติเรื่องอานิสสงส์การทำบุญด้วยน้ำผึ้งด้วย

นอกจากตักบาตรน้ำผึ้งแล้ว ในวันนั้น ชาวมอญที่วัดอัมพวันบ้านบางขันหมาก จะแห่และถวายโน่ห์ เป็นพุทธบูชาพร้อมนำขึ้นแขวนที่เสาชัยของวัดด้วย เสาชัยของวัดเป็นเสาไม้สูงนับสิบเมตรตั้งเด่นอยู่หน้าวัด เมื่อกล่าวคำบูชาถวายโน่ห์แล้วก็จะแห่และชักขึ้นสู่ยอดเสา (ปัจจุบันเปลี่ยนมาแขวนที่เสาหงส์แทน) การแห่ธงหรือโน่ห์ของคนมอญวัดอัมพวันบ้านบางขันหมาก อาจจะต่างจากชุมชนมอญอื่นๆ ที่มักแห่โน่ห์ หรือธง ในเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่เป็นการเฉลิมฉลอง สำหรับชุมชนมอญบางขันหมากเองวัดต่างๆ ก็ปฏิบัติไม่เหมือนกัน คือวัดราษฏร์ศรัทธาทำ วัดกลาง วัดโพธิ์ระหัต ขึ้นโน่ห์ วันพระสารท (แรม 15 ค่ำ ) ต่างจากวัดอัมพวันที่จะขึ้นธงวันพระตักบาตรน้ำผึ้ง

จากการบอกเล่าจากปากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนมอญวัดอัมพวันมีความเชื่อสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนว่า ในเดือน 10 นั้น เปรตชน ผู้เป็นบรรพบุรุษผู้ล่วงลับในเมืองผี ต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้ ในหนึ่งปีในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10  เปรตชนเหล่านั้นจะถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปเมืองผีในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 วันพระสารท ชาวมอญวัดอัมพวันจึงถือคตินี้ทำโน่ห์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาพระพุทธเจ้าของชาวมอญที่มีมาแต่ในอดีตโดยจะช่วยกันประดับประดาธงผ้าด้วยความสวยงาม ในสตรีมอญผู้สูงอายุยังนิยมนำปอยผมของตนรวมกันเป็นกำทำเป็นพู่ห้อยประดับที่ปลายธงคล้ายหางม้า บ้างว่าเป็นการระลึกถึงความกตัญญูของม้ากัณฐกะที่มีต่อพระพุทธเจ้า  บ้างถือว่าเส้นผมเป็นส่วนที่สูงที่สุดของร่างกายด้วยความศรัทธาอย่างหาที่สุดมิได้จึงนำเส้นผมของตนมาทำเป็นเครื่องบูชาในครั้งนี้ด้วย เมื่อถวายเป็นพุทธบูชาแล้วอุทิศให้เปรตในวันพระตักบาตรน้ำผึ้ง ด้วยหวังว่าบรรดาเปรตชนเมื่อขึ้นมาเมืองมนุษย์แล้วจะได้เห็นโน่ห์ที่ถวายไว้ในพระศาสนา จะได้อนุโมทนาร่วมกัน และนิยมทำดังโน่ห์ คือธงที่ตัดจากกระดาษเป็นตัวตุ๊กกะตุ่นตุ๊กตาชายหญิง ร่ม ฉัตร  ธง  พร้อมนำอาหารคาวหวาน เอาไปส่งผีที่อนุสาวรีย์ของบรรพชนของตนที่วัด เพื่อเปรตชนของตนจะได้นำติดมือไปบูชาพระที่เมืองผี และจะได้อนุโมทนาให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุข  เชื่อว่าถ้าไม่ทำดังโน่ห์หรือทำบุญให้เปรตชนเหล่านั้นร้องไห้เดินกลับเมืองผีมือเปล่าพร้อมคำสาบแช่ง ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ทำมาหากินไม่ขึ้น ให้ฉิบหายตายดับ

ดังนั้นบุญประเพณีเดือน 10 ตักบาตรน้ำผึ้ง (ขึ้น 15 ค่ำ) ถือเป็นวันรับ และบุญสารท (แรม 15 ค่ำ) ถือเป็นวันส่ง ในการทำบุญอุทิศเปรต ชาวมอญบางขันหมากยังคงรักษาบุญประเพณีเดือนสิบของตนไว้เป็นอย่างดี ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ด้วยความเชื่อเรื่องอานิสงส์แห่งบุญและกลัวคำสาปแช่งจากเปรตชน จึงทำให้ชาวมอญบางขันหมากให้ความสำคัญกับบุญเดือนสิบมาก ส่วนวิถีปฏิบัติ อาจต่างจากชุมชนอื่นบ้างตามวิถีหรือบริบทชุมชน






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.