แพร่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 2/2562
27 ส.ค. 2562, 15:06
วันที่ 27 ส.ค. 2562 ที่ห้องประชุมไชยบูรณ์ ศาลากลางจังหวัดแพร่ นายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 2/2562 เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่ออื่นที่เป็นปัญหาของจังหวัดแพร่ โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันโรคติดต่อนําโดยยุงลาย ระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
คณะกรรมการโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีบทบาทหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายระบบและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ จัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย รายงานสถานการณ์โรคติดต่อ หรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่อาจเป็นโรคระบาดขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัด ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อ
การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคติดต่อจังหวัดแพร่ ปี 2562 จังหวัดแพร่ได้ประกาศโรคที่ต้องเฝ้าระวัง 10 อันดับปี 2562 ได้แก่โรคอุจจาระร่วง จำนวนผู้ป่วย 4,501 ราย โรคปอดบวม จำนวนผู้ป่วย 1,356 ราย โรคอาหารเป็นพิษ จำนวนผู้ป่วย 911 ราย โรคไข้หวัดใหญ่ จำนวนผู้ป่วย 747 ราย โรคตาแดง 347 ราย โรคสุกใส จำนวนผู้ป่วย 327 ราย โรคไข้เลือดออก จำนวนผู้ป่วย 263 ราย โรคมือเท้าปาก 188 ราย วัณโรค 163 ราย และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำนวนผู้ป่วย 72 ราย
สำหรับการดำเนินงานการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีผลสำรวจประชากรสุนัขและแมวโดยองค์กรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าสุนัขที่มีเจ้าของ จำนวน 48,784 ตัว ตัว ไม่มีเจ้าอยู่ระหว่างการสำรวจ และแมวมีเจ้าของ 19,491 ตัว ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวแล้วคิดเป็นร้อยละ 90.17
สถิติข้อมูลผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกปี 2562 พบจำนวนผู้ป่วย 263 รายพบมากที่สุดคืออำเภอวังชิ้น อำเภอร้องกวาง และอำเภอเด่นชัยตามลำดับ พบผู้ป่วยอายุ 10-14 ปีมากที่สุด และพบว่าปัญหาการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายไม่มีความต่อเนื่องในชุมชน ทำให้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายจากการสุ่มสำรวจโดยเจ้าหน้าที่ยังคงสูงเกินมาตรฐาน ประชาชนยังขาดความตระหนักในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและอาณาบริเวณ และยังคิดว่าเป็นหน้าที่ของ อสท. ทั้งนี้ได้มีการเสนอแนวทางการแก้ไขโดยการถ่ายทอด อบรมให้ความรู้ การพ่นสารเคมีในการควบคุมโรค ให้ทุกอำเภอมีการรณรงค์ตามโครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามช่วงเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ร่วมมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค นำโดยยุงลายผ่านเวทีอื่นๆ ตามบริบทของพื้นที่ นอกจากนี้คณะกรรมการได้นำเสนอการดำเนินงานป้องกันโรคติดต่อชนิดอื่นๆ เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแพร่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ