ชลประทาน 12 ส่งหนังสือแจ้งเตือน 7 จว.ลุ่มเจ้าพระยา เตรียมพร้อมรับมือการระบายน้ำเพิ่ม
7 ก.ย. 2564, 15:40
ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เผยสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกชุกทางภาคเหนือทำให้น้ำท่าตามลำน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ จะมีมวลน้ำสูงสุดในวันที่ 9 ก.ย.2564 และถึงเขื่อนเจ้าพระยาวันที่ 10 ก.ย.2564 เตือน 7 จังหวัดพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเตรียมรับมือการระบายน้ำเพิ่ม ด้านกรมชลประทานยืนยันจะบริหารน้ำท่าที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
วันนี้ ( 7 ก.ย.64 ) นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกในบริเวณภาคกลางทำให้มีน้ำท่าไหลมาจากด้านบนลงมาบริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน ไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่สถานีวัดน้ำ C2 วันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 936 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วิ) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสูงสุดในวันที่ 9 กันยายนนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,046 ลบ.ม./วิ และจะไหลมาที่เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งวันนี้ระบายอยู่ที่ 633 ลบ.ม./วิ และปริมาณน้ำสูงสุดจากจังหวัดนครสวรรค์จะไหลมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา ในวันที่ 10 กันยายน 2564 โดยจะควบคุมการระบายอยู่ที่ 700 ลบ.ม./วิ
ทั้งนี้ ชลประทานมีเกณฑ์การบริหารจัดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา กรณีเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ 700-2,000 ลบ.ม./วิ ได้รับผลกระทบบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ตลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ระบายน้ำ 2,000-2,200 ลบ.ม./วิ บริเวณ ผลกระทบที่ อ.ไชโย จ.อ่างทอง อ.พรมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และหากการระบายน้ำตั้งแต่ 2,200 – 2,400 ลบ.ม./วิ ผลกระทบที่ ต.โพนางดำ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
ล่าสุด สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการ จังหวัด 7 จังหวัด ประกอบด้วย อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกชุกหนาแน่น ทำให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กรมชลประทาน จะมีการบริหารจัดการน้ำจะเก็บปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเข้าสู่อ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด และการบริหารน้ำท่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยผันน้ำเข้าสู่คลองชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปี