ผลวิจัยชี้ ไม่ควรใช้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาผู้ป่วยโควิด-19
23 ส.ค. 2564, 16:04
วันนี้ ( 23 ส.ค.64 ) นายเกรียงศักดิ์ ขาวเนียม ผอ.ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บจก.สยามไพรพัฒนาผู้วิจัยและผลิต ฟ้าทะลายโจรขนาดนาโนที่ทำให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สามารถละลายน้ำได้ 100% และนายนิวัฒน์ จุมวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บจก.เมดิคอล เทลลิเจ้นซ์ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการวิจัยทางคลินิกเพื่อนำตำรับยาฟ้าทะลายโจรขนาดนาโน จากพืชฟ้าทะลายโจรชนิดพ่นเข้าปอดรักษาภาวะปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด -19 ซึ่งขณะนี้ได้ทำการวิจัยในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดบ้านเนื่องจากไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้กว่า 100 ราย ที่อยู่ในสถานะสีเขียว สีเหลือง มีผลการรักษาดีทุกราย ส่วนผู้ป่วยสีแดงที่มีภาวะปอดอักเสบ ความเข้มข้นของออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ 95 จำนวนกว่า 20 ราย ได้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน
คณะผู้วิจัย ได้พบปัญหาแทรกซ้อนที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรนาโนร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงและกลับทำให้อาการทางปอดแย่ลง เมื่อหยุดยาฟาวิพิราเวียร์ จึงมีอาการดีขึ้นและภาวะปอดอักเสบทุเลาลงใน 5 วัน การใช้ยาร่วมกันระหว่างฟาวิพิราเวียร์กับฟ้าทะลายโจรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปทั้งในโรงพยาบาลสนามและที่บ้าน (home isolation) แต่ผลข้างเคียงอาจจะไม่พบมากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้ฟ้าทะลายโจรชนิดกินทั่วไป ไม่ละลายน้ำและดูดซึมน้อยกว่าร้อยละ 5 แตกต่างจากฟ้าทะลายโจรขนาดนาโน ซึ่งมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ละลายน้ำและดูดซึมได้ดีกว่ามาก ทำให้มีระดับยาสูงและทำให้ปฏิกริยาต่อกันกับยาฟาวิพิราเวียร์ แสดงออกชัดเจน
คณะผู้วิจัยจึงสืบค้นข้อมูลที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อน พบว่า เอนไซม์ในตับ ซึ่งมีหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารเคมีหลายชนิดเพื่อการทำลายพิษของยาหรือสารเคมีอาจจะถูกยับยั้งโดยสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่มีอยู่ในยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งจะส่งผลให้ระดับยาฟาวิพิราเวียร์ คั่งค้างสูงผิดปกติจนระดับยาส่วนเกินเพิ่มสูงในกระแสเลือดมากกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเหตุให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามกลไกของการทำให้มีปฏิกิริยาต่อกันของยาทั้งคู่เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น
ผู้วิจัยต้องการแจ้งเตือนต่อผู้ป่วยและแพทย์ที่มีการใช้ยาคู่เพื่อความมุ่งหวังผลช่วยเหลือการรักษา อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและไม่แนะนำให้มีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อการรักษาโควิด-19 นอกจากนี้สมุนไพรที่ใช้กันมาก เช่น ขมิ้น (curcumin) หรือพืชตระกูลขิง ก็มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ที่อาจส่งผลให้ระดับยาฟาราพิราเวียร์สูงกว่าที่ควรที่จะเป็นด้วย คณะผู้วิจัยจึงไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรดังกล่าว ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่อาจใช้ในภายหลังเพื่อผลการป้องกันการติดเชื้อในอนาคต การใช้ยาลักษณะหลายชนิดหรือ cocktail treatment จึงควรมีการศึกษาปฏิกิริยาต่อกันของยาหรือที่เรียกเป็นทางการว่าอันตรกิริยาระหว่างยาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะนำมาให้กับผู้ป่วย