กทม.เล็งซื้อโมเดอร์นาฉีด ปชช. - ปัดขัดแย้ง สธ.
29 ก.ค. 2564, 15:32
วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และผู้บริหาร กทม. แถลงข่าวสรุปการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ถือว่าค่อนข้างวิกฤตตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม โดยในช่วง 1-2 วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 3,000 กว่าราย ทาง กทม.พยายามกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด โดยมาตรการล็อกดาวน์ยังถือว่ามีความจำเป็นตามหลักวิชาการและหลักการแพทย์ เพื่อลดการเคลื่อนที่ของประชาชน ลดการติดเชื้อ
ทั้งนี้ กทม.มีศูนย์พักคอย 59 ศูนย์ เปิดให้บริการแล้ว 30-40 ศูนย์ ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลจาก 100 กว่าเตียง เป็น 3,000 กว่าเตียง ยังไม่รวมโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลอีกหลายพันเตียง
นอกจากนี้ยังมีการทำ Community Isolation ดูแลในระบบชุมชนให้กับผู้ที่ติดเชื้อ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำ home isolation หรือการกักตัวที่บ้านได้ เพื่อให้อยู่ใกล้ชิดแพทย์และจะได้รับการรักษา รวมถึงกลุ่มอาการรุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาระดับปฐมภูมิโดยเร็วที่สุด
ส่วนการดูแลแคมป์คนงานแม้จะสิ้นสุดมาตรการปิดแคมป์ไปแล้ว จะต้องมีมาตรการ Bubble and Seal เช่นเดิม ลดการให้คนงานออกไปสัมผัสกับคนภายนอกเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดมากขึ้น หากเกิดการระบาดก็ต้องหารือ ศบค.เพื่อออกมาตรการในภาพรวม ส่วนการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง ไล่ตามลำดับคือ บุคลากรทางการแพทย์ มูลนิธิ พระ และสัปเหร่อ ซึ่งบางส่วนได้ฉีดแล้ว กทม.พยายามประชาสัมพันธ์ และวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ ทาง กทม.จะเริ่มเข้าไปประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าไปฉีดวัคซีนให้ได้ 221 วัด และเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งไม่ใช่แค่สัปเหร่อ แต่เป็นทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาศพรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในศาสนาอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังพยายามประชาสัมพันธ์ไปยังวัดต่าง ๆ กรณีการเผาศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้วัดส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้าใจ และพร้อมที่จะดำเนินการเผาศพ
ส่วน กทม.และ สธ.มีปัญหากันหรือไม่นั้น ยืนยันว่า กทม.และ สธ.ทำงานร่วมกันมาตลอด กรณีที่มีข่าวทะเลาะกับ สธ.ทาง กทม.ได้ชี้แจงไปแล้วว่า กทม.ได้รับวัคซีนจำนวนเท่าไร โดย กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในระบบหมอพร้อม 1,220,000 โดส เป็นกระบวนการที่ทำร่วมกับ สธ.
ดังนั้นจะมียอดลงทะเบียนของทั้งสองหน่วยงานในจำนวนนี้กว่า 30,000โดส ใช้ในการฉีดผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน และได้รับวัคซีนจากโครงการไทยร่วมใจเพียง 680,000 โดส และใน 1-2 วันนี้จะมีการตัดวัคซีนไปฉีดผู้ป่วยในชุมชนอีกประมาณ 30,000 โดส ตรงนี้เป็นตัวเลขทั้งหมดที่ได้รับ
ส่วนจำนวน 700,000 โดส คืออะไร ก็ต้องบอกว่าถ้าเอาตัวเลขเป๊ะ ๆ ที่ได้รับจากโครงการไทยร่วมใจอยู่ที่ 680,000 โดส ซึ่งทุกครั้งที่จะนำวัคซีนจากโครงการไทยร่วมใจไปใช้จะต้องมีการขอมติจาก ศบค.ด้วยว่าจะให้ฉีดเท่าไรอย่างไร
เป็นไปได้หรือไม่ที่ กทม.จะจัดซื้อวัคซีนเอง ?
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า สธ.แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ วัคซีนที่รัฐจัดหา และวัคซีนทางเลือก กทม.มีความพร้อมและได้จัดซื้อวัคซีนทางเลือกแล้วบางส่วน อย่างซิโนฟาร์ม ใช้ในการฉีดในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง และอยู่ระหว่างการพูดคุยในเรื่องการจัดซื้อโมเดอร์นาในลำดับถัดไป ส่วนการกระจายวัคซีนคงไม่มีการปรับแผน
โดย กทม.ทำตามนโยบายมาตลอด เร่งฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค และผู้ที่มีความเสี่ยง และมีเป้าหมายฉีดให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ซึ่งศักยภาพของศูนย์ฉีดได้ 7-8 หมื่นต่อวัน หากได้วัคซีนเพิ่มเราก็มีศักยภาพที่จะฉีดเพิ่มได้
"ส่วนกลุ่มที่ไปรอฉีดสถานีกลางบางซื่อจำนวนมากจนเกิดภาพความแออัดในส่วนนี้ กทม.สามารถเข้าไปช่วยได้หรือไม่นั้น กทม.เป็นแค่หนึ่งคณะกรรมการกระจายวัคซีน ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าใครจะได้รับวัคซีนเท่าไร กทม.พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในการฉีดวัคซีนในสถานีกลางบางซื่อซึ่งมีภาพความแออัด และอาจจะมีความเสี่ยงต่อการระบาด แต่ทั้งนี้ อยู่ที่วิจารณญาณของ สธ. ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดในการควบคุมการระบาด และรู้ว่าการกระจายวัคซีนและการบริหารจัดการควรเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาด กทม.คงไปสั่งแทนไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ แต่ กทม.พร้อมเข้าไปช่วย" ร.ต.อ.พงศกรกล่าว
พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า การแพร่ระบาดขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่รุนแรง แต่รุนแรงอย่างคงที่ ส่วนข้อจำกันในการดูแลผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง การนำวิธีการ home isolation และ Community Isolation มาใช้ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลในการดูแลคนไข้ ขณะนี้การดูแลรักษาเปลี่ยนทิศทาง โดยให้ประชาชนกลุ่มสีเขียวสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน หรือดูแลภายในชุมชน ทำให้โรงพยาบาลสามารถปรับตัวดูแลคนไข้กลุ่มสีเหลืองและสีแดงได้มากขึ้น
ดังนั้นสถานการณ์ขาดแคลนเตียงคงต้องใช้เวลาในการทำ home isolation และ Community Isolation ให้เกิดประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังมีการนำแรพิด แอนติเจน เทสต์ มาใช้ในการค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อรักษาให้รวดเร็ว เป็นการควบคุมโรค โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยดูแลในการทำ home isolation และ Community Isolation
รวมถึงมีการฉีดวัคซีนเชิงรุก โดยสามารถทำได้แล้วประมาณ 1,800 ชุมชน จากชุมชนจัดตั้งทั้งหมด 2,016 ชุมชน คาดว่าจะฉีดได้ครบทุกชุมชนภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ และจะมีรอบเก็บตกในชุมชนที่ไม่จัดตั้งในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่ในส่วนของตลาด ในการระบาดระยะที่สอง เป้าหมายตรวจ 466 แห่ง ตรวจไปแล้ว 367 แห่ง มีตลาดที่ระบาดไปแล้ว 96 แห่ง สุ่มตรวจ 2 หมื่นกว่าคน พบติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 3 เมื่อมีการระบาดมากขึ้น กรมควบคุมโรคแนะนำไม่ให้มีการสุ่มตรวจ ให้เน้นการควบคุมโรคมากกว่าสุ่มตรวจเฝ้าระวัง
ที่มา matichon