กู้ภัยสามร้อยยอด จัดจุดพักรถผู้ป่วยโควิดขณะเดินทางกลับภูมิลำเนา หวังลดความเครียด
16 ก.ค. 2564, 11:18
วันที่ 16 กรกฎาคม 64 นายเล็ก แซ่เฮง หัวหน้าหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างเมธีธรรมสถานสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ประสบปัญหาขาดแคลนเตียงสำหรับรักษาผู้ป่วย และพบว่าบางส่วนรอเตียงทำให้มีอาการป่วยรุนแรง บางรายเสียชีวิตก่อนได้รับการรักษา ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนติดต่อโรงพยาบาลต่างจังหวัดหรือ เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษาตัวที่บ้านเกิด ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น หากไม่มีมาตรการป้องกันที่รัดกุมขณะเดินทาง โดยเฉพาะในรายที่เดินทางด้วยตนเอง ไม่ได้ประสานรถกู้ภัยหรือรถจากโรงพยาบาลให้มารับตัว
“หลังจากผู้ป่วยโควิดมีการเดินทางกลับมารักษาตัวที่ต่างจังหวัด ชุดปฏิบัติการพิเศษตอบโต้โควิด-19 หรือ สก๊อตทีม ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดได้เข้าช่วยเหลือผู้ป่วย ในการรับส่งจากบ้านถึงโรงพยาบาลปลายทาง เพื่อให้ปลอดภัยลดการแพร่เชื้อ โดยเจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยและรักษามาตรการป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างดี แต่พบว่า ขณะนี้โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ประสบปัญหาขาดจุดพักรถรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ผ่านมาต้องแวะพักตามปั๊มน้ำมันขนาดเล็กที่ไม่ค่อยมีคนใช้บริการ เพื่อพักเข้าห้องน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการฉีดพ่นแอลกอฮอล์ตลอดทั้งก่อนลงรถและก่อนขึ้นรถ รวมทั้งไปฉีดที่ห้องน้ำด้วย แต่ก็ไม่สะดวกเนื่องจากทางปั๊มน้ำมันก็มีความกังวลด้านความปลอดภัย”นายเล็ก กล่าว
หัวหน้าหน่วยกู้ภัย ฯ กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหามูลนิธิสว่างเมธีฯได้จัดสถานที่จอดรถรับส่งผู้ป่วยโควิด ที่จะเดินทางผ่าน 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แวะพักรถ รับประทานอาหาร หรือเข้าห้องน้ำ เมื่อรถมาถึงที่มูลนิธิฯ จะมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรอบตัวรถ จากนั้นผู้ป่วยจะเดินผ่านม่านน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อให้ฆ่าเชื้อที่ตัวและเสื้อผ้า ก่อนจะเข้าในนั่งพักผ่อนคลายในจุดที่นั่งที่จัดไว้เป็นสัดส่วน เว้นระยะ หรือจะเข้าห้องน้ำ สามารถทำได้โดยสะดวก ขณะนี้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีจุดจอดรถผู้ป่วยโควิด มีมาตรการป้องกันครบถ้วนเพียงแค่จุดเดียว แต่ขับรถไปภาคใต้แล้ว จะไม่มีจุดจอดในลักษณะดังกล่าว ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อและอาจเกิดอุบัติเหตุ หากขับรถทางไกลเป็นระยะเวลานาน จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐ ช่วยประสานจัดจุดพักรถให้รถกู้ภัยที่รับส่งผู้ป่วยโควิด19 ในทุกจังหวัดๆละ อย่างน้อย 2 จุด หรือจะให้ดีควรมีจุดจอดรถทุก 100 กิโลเมตร เพื่อความปลอดภัยได้จะดีที่สุด
นายพรเทพ ฉัตรเจริญจิต เจ้าหน้าที่มูลนิธิกุศลศรัทธาสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า แต่ละรอบที่ต้องเดินทางมารับผู้ป่วยโควิดที่ กทม.กลับภูมิลำเนาที่ จ.สุราษฎร์ธานี ใช้เวลาไปกลับประมาณ 20 ชั่วโมง เนื่องจากต้องรับผู้ป่วยหลายจุดใน กทม. และต้องนำส่งถึงจุดหมายในแต่ละโรงพยาบาลของแต่ละราย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีความรัดกุมในการป้องกันโควิด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง แต่ต้องประสบปัญหาอย่างมากไม่มีจุดจอดรถสำหรับรถกู้ภัยที่รับส่งผู้โดยสาร เพราะไม่สามารถไปแวะจอดปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่เหมือนบุคคลทั่วไปได้
“ แต่ทราบว่ามูลนิธิสว่างเมธีฯให้การสนับสนุน จัดจุดจอดรถให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลาย สำหรับจุดจอดรถแห่งนี้เป็นต้นแบบไปดำเนินการในพื้นที่อื่น แต่ขณะนี้ยังไม่มีที่ไหนดำเนินการ ซึ่งควรมีทุกอำเภอ ทุกจังหวัด แต่ละครั้งที่เดินทางต้องลำบากหาจุดพักรถเป็นอย่างมาก เป็นไปไม่ได้ที่จะขับต่อเนื่องจนถึงจุดหมายโดยไม่หยุดพัก “นายพรเทพ กล่าว/////////////////