ผู้ว่าฯสุราษฎร์ ร่วมส่ง ศรชล.กลับที่ตั้งปกติ หลังรับคืนพื้นที่สาธารณะทางทะเลได้เป็นจำนวนมาก
14 ก.ค. 2564, 16:34
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ พล.ร.ท สำเริงจันทร์โส ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 2/ผอ.ศรชล.ภาค 2 ในการเดินทางไปเพื่อส่งกำลังพลกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี (กรอ.) เดินทางกลับที่ตั้งปกติ และตรวจพื้นที่อ่าวบ้านดอน ณ ที่ตั้ง กรอ. ศาลาเอนกประสงค์วัดชลธาร ตำบลบางไทร อำเภอเมืองฯจังหวัดสุราษฎร์ธานี
จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อ่าวบ้านดอนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมาเกิดเหตุการณ์แย่งพื้นที่สาธารณะในอ่าวบ้านดอน มีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างในทะเล ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม ในการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะทาง ศรชล.ภาค ๒ โดย พลร.ท.สำเริง จันทร์โส ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค ๒/ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๒ ได้กรุณาจัดตั้งกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ บริเวณอ่าวบ้านดอนขึ้น เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทำให้สามารถคืนพื้นที่ในอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผลสำเร็จ โดยได้รับการสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์จากหน่วย ต่างๆ ใน กองทัพเรือ ดังนี้ ทัพเรือภาคที่ 2 ศรชล.ภาค 2 กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือ ยุทธการ และหน่วยงานในพื้นที่เข้าสมทบ ได้แก่ ศรชล.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าท่าภูมิภาค สาขาสุราษฎร์ธานี สำนักงานประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่ ๔สุราษฎร์ธานี กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจน้ำ อีกทั้ง ศรชล.ได้จัดชุดเฉพาะกิจจากสำนักสืบสวนและสอบสวนศรชล. เข้ามาในพื้นที่เพื่อดำเนินการ สืบสวนสอบสวนผู้กระทำผิด และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้เข้ามาดำเนินคดีกับผู้ที่ยึดครองพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง
ซึ่งผลจากการปฏิบัติการร่วมกันของทุกหน่วยงานสามารถส่งคืนพื้นที่ให้กับจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี รื้อถอนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ส่งคืนพื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 28,265 ไร่ รื้อสิ่งปลูกสร้างในทะเลจำนวน 89 หลัง เสาปูนซึ่งใช้ทำเป็นเสาขนำและเสารั้วจำนวน 1,939 ต้น เสาไม้ไผ่เพื่อแสดงอาณาเขตประมาณ35,000 ต้น
อำเภอพุนพิน รื้อถอนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ส่งคืนพื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 23,036 ไร่ รื้อสิ่งปลูกสร้างในทะเลจำนวน 77 หลัง เสาปูนซึ่งใช้ทำเป็นเสาขนำและเสารั้วจำนวน 1,469 ต้น เสาไม้ไผ่เพื่อแสดงอาณาเขตประมาณ24,000 ต้น
อำเภอกาญจนดิษฐ์ รื้อถอนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ส่งคืนพื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 23,378 ไร่ รื้อสิ่งปลูกสร้างในทะเลจำนวน 171 หลัง เสาปูนซึ่งใช้ทำเป็นเสาขนำและเสารั้วจำนวน 4,106 ต้น เสาไม้ไผ่เพื่อแสดงอาณาเขตประมาณ79,320 ต้น
อำเภอท่าฉาง รื้อถอนแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งคืนพื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 23,457 ไร่ รื้อสิ่งปลูกสร้างในทะเลจำนวน 122 หลัง เสาปูนซึ่งใช้ทำเป็นเสาขนำและเสารั้วจำนวน 3,189 ต้น เสาไม้ไผ่เพื่อแสดงอาณาเขตประมาณ50,000 ต้น
อำเภอไชยา รื้อถอนแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งคืนพื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 8,164 ไร่ รื้อสิ่งปลูกสร้างในทะเลจำนวน 28 หลัง เสาปูนซึ่งใช้ทำเป็นเสาขนำและเสารั้วจำนวน 398 ต้น เสาไม้ไผ่เพื่อแสดงอาณาเขตประมาณ 7,800 ต้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้กล่าวขอบคุณท่านผอ.ศรชล.ภาค 2 และหน่วยงานทุกหน่วย กำลังพลทุกนายที่ได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการครั้งนี้นับว่าเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่ โดยหลังจากที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับมอบพื้นที่แล้วจะดำเนินการตามที่คณะกรรมการประมงจังหวัดได้ศึกษาร่วมกับกรมประมง โดยมีการพิจารณาการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม โดยพิจารณาสัดส่วนของพื้นที่ที่จะกำหนดการใช้ประโยชน์ กำหนดพื้นที่ตาม พรก.การประมงพ.ศ. ๒๕๕๔ และฉบับแก้ไข พ.ศ.๒๕๖๐ เช่น การจัดพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ หรือพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ การกำหนดเขตร่องน้ำเดินเรือ กำหนดพื้นที่สาธารณะสมบัติ ของแผ่นดินที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์อย่างร่วมกันเพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มอบหมายให้ ศรชล.จังหวัดสุราษฎร์ธานี บูรณาการกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีสำนักงานประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี และ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๔ ในการรักษา ความสงบเรียบร้อย ป้องกันไม่ให้มีการทำประมงผิดกฎหมายในอ่าวบ้านดอน ต่อไป
ในการนี้มีประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าท่าภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๔ และผู้แทนกองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจน้ำ เข้าร่วมประชุมและร่วมตรวจพื้นที่บริเวณอ่าวบ้านดอนด้วย