"แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ" ยัน! แอสตร้าฯ ป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ ชี้! วัคซีนโควิดทุกชนิดประสิทธิภาพลด หลังเชื้อมีการกลายพันธุ์
2 ก.ค. 2564, 16:13
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวในเวทีเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” ว่า ใน 100 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ไม่มีใครรู้ดีที่สุด แต่เราต้องเอาข้อมูลมาประกบกัน หาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย ให้ประเทศเดินหน้าต่อเปิดเศรษฐกิจ
สำหรับวัคซีน ซิโนแวค เป็นชนิดเชื้อตาย ของประเทศจีน เป็นวัคซีนเข้ามาเฉพาะกิจในช่วงการระบาด เรามีข้อมูลวัคซีนนี้ในประเทศไทย เช่น เชียงราย ภูเก็ต พบว่ามีประสิทธิผลในการใช้ในชีวิตจริง พบว่าได้ผลในการป้องกันโรคถึงร้อยละ 71-91 และแม้ว่าติดก็จะมีอาการน้อย ยกตัวอย่าง เมืองในบราซิล มีประชากร 8 หมื่นคน ที่มีการระบาดสายพันธุ์ P.1 ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับไทย ฉีดวัคซีนซิโนแวค ร้อยละ 80-90 อัตราเสียชีวิตลดลง ร้อยละ 95 ส่วนอินโดนีเซีย เดือนมีนาคม พบว่าลดอัตรเสียชีวิตในบุคลากรแพทย์ได้อย่างมาก แต่เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า แพทย์บางคนฉีดครบ 2 เข็มแต่เสียชีวิต ซึ่งเบื้องต้นพบว่า อินโดนีเซียพบสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ทำให้เรามีความปวดหัวมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผ่านมาวัคซีนซิโนแวคใช้ในแถบเอเซีย ไม่ได้ใช้ในแถบยุโรป หรืออเมริกา แต่เมื่อ 4 วันที่ผ่านมา มีสื่อจากประเทศจีนรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดของจีน รายงานว่า เมืองกว่างโจว ที่ผู้ป่วย 166 ราย ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าทั้งหมด หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วลดการติดเชื้อในผู้สัมผัสได้ ร้อยละ 60 ลดอาการปอดอักเสบได้ ร้อยละ 73 และลดอาการรุนแรงเสียชีวิต ร้อยละ 95 ขณะที่ ประเทศไทย กำลังเปลี่ยนจากสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) มาเป็นสายพันธุ์เดลต้า แต่หากถามถึงสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ยังไม่มีข้อมูลของวัคซีนซิโนแวค เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มระบาด
สรุปแล้วว่าวัคซีนซิโนแวค จากประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เป็นวัคซีนที่ใช้ได้ ป้องกันป่วย ป้องกันตายได้ ถึงแม้ฉีดวัคซีนแล้วยังมีคนติดเชื้ออยู่บ้าง แต่ข้อดีคือเป็นวัคซีนที่สามารถจัดหาได้ในขณะนี้ เปรียบเมื่อพายุฝนกำลังมา หากหยิบร่มได้ก็ใช้ได้ แม้จะเปียกนิดหน่อยแต่ก็ไม่เป็นอะไร
วัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นตัวหลักของไทย ประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อัลฟ่า สูงถึงร้อยละ 70-90 และไทยกำลังทำข้อมูลอยู่ เนื่องจากจำนวนการฉีดยังไม่มากพอ แต่การศึกษาประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลต้าในต่างประเทศ พบว่า แอสตร้าฯมีประสิทธิผล ร้อยละ 97 ดังนั้น วัคซีนแอสตร้าฯต่อสายพันธุ์เดลต้าได้ดี ซึ่งกำลังมีการศึกษาเทียบกับชนิด mRNA เพื่อดูระดับในการจับเชื้อไวรัส พบว่า ใกล้เคียงกัน แต่กับสายพันธุ์เบต้า พบว่า วัคซีนแอสตร้าฯ ประสิทธิผลได้แค่ ร้อยละ 10.4 ซึ่งต้องจับตามองต่อไป
สำหรับ วัคซีนชนิด mRNA มีผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดีมาก การศึกษาวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพวัคซีนโมเดอร์นา สูงถึง ร้อยละ 94 และวัคซีนไฟเซอร์ ร้อยละ 95 แต่ปัญหาตอนนี้คือ การกลายพันธุ์ ซึ่งข้อมูลสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีวัคซีนเคียวร์แวค (CureVac) ประเทศเยอรมนี ชนิด mRNA มีการศึกษาในอาสาสมัครฝั่งยุโรปและละตินอเมริกา 4 หมื่นคน พบว่า ประสิทธิภาพลดลงเหลือ ร้อยละ 48 แต่ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ร้อยละ 100 ผู้ผลิตวัคซีนผิดหวังมาก จึงนำข้อมูลไปเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่า ประสิทธิภาพลดลงเพราะเชื้อกลายพันธุ์ ที่เป็นหัวใจใหญ่ที่เราต้องติดตามว่าวัคซีนต่างๆ จะสู้ได้หรือไม่ ซึ่งก็มีการศึกษาหลายรูปแบบ คือ การดูภูมิคุ้มกันที่สร้างโดยวัคซีนนั้นๆ มีการจัดการเชื้อกลายพันธุ์ในหลอดทดลองดีหรือไม่ หรือการศึกษาการใช้จริง ตรงนี้จะช้าหน่อย ต้องใช้เวลา
ทั้งนี้ วัคซีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาด ซึ่งวัคซีนที่เรามีอยู่อย่างซิโนแวคใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่แอสตร้าฯภูมิคุ้มกันสูงกว่า เร็วกว่าได้ นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังต้องติดตามเรื่องผลข้างเคียงด้วย เพราะวัคซีนแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA ค่อนข้างสูง แต่รับได้ ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไป