บอร์ดฯ สั่งทบทวนคุณสมบัติจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน หวั่นคนนอกแฝงยื่นขอปลูกกัญชา
2 ก.ค. 2564, 14:57
วันนี้ ( 2 ก.ค.64 ) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่า ณ มิ.ย. 64 มีวิสาหกิจที่จดทะเบียนและดำเนินการอยู่ 9.6 หมื่นแห่ง คิดเป็นจำนวนสมาชิกรวม 1.68 ล้านราย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 62 ที่มี 8.6 หมื่นแห่ง และปี 63 เพิ่มเป็น 9.3 หมื่นแห่ง ขณะเดียวกัน มีวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว จำนวน 2.9 พันแห่ง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้นมาก คือ การเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มช่องทางการตลาดแก่เกษตรกร เป็นโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
และสืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนสามารถปลูกพืชเสพติดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เช่น กัญชา ภายใต้การกำกับของหน่วยงานรัฐตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ทำให้วิสาหกิจชุมชนต้องการเพิ่มกิจกรรมการปลูกพืชเสพติด รวมถึงคนทั่วไปต้องการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกพืชดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการฯ ได้มีการหารือกัน และมีข้อกังวลว่า อาจมีคนบางกลุ่มเข้าจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแต่ดำเนินการข้ามพื้นที่ เป็นในลักษณะที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้วิสาหกิจชุมชน เป็นของประชาชนในพื้นที่ ใช้ทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความแข็งแรง เป็นชุมชนพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินของวิสาหกิจชุมชนเป็นไปเพื่อชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริง คณะกรรมการฯจึงมีมติให้ทบทวนประกาศคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เรื่องคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และการต่อทะเบียนของวิสาหกิจชุมชน ข้อ 4 และ ข้อ 7 ให้มีความชัดเจนมากขึ้น จะได้ไม่มีการเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือทำสิ่งที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยข้อ 4 กำหนดว่า “ วิสาหกิจชุมชนจะต้องเป็นกิจการที่ดำเนินการหรือประสงค์ที่จะดำเนินการร่วมกันของกลุ่มคนในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจชุมชน และ/หรือ รวมทั้งพื้นที่ข้างเคียงที่มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจชุมชนด้วย ซึ่งอาจอยู่ภายในตำบล อำเภอ จังหวัดเดียวกันหรือไม่ก็ได้ โดยสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนมีวิถีชีวิตร่วมกันและสามารถดำเนินกิจการร่วมกันได้ อาจเป็นนิติบุคคลหรือไม่เป็นนิติบุคคลก็ได้ จะต้องประกอบด้วยสมาชิกที่อยู่ร่วมกันในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คน โดยต้องไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกันหรือไม่มีรายชื่อปรากฏในทะเบียนบ้านเดียวกัน” และ ข้อ 7 “วิสาหกิจชุมชนจะต้องดำเนินกิจการโดยไม่ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยและศีลและทำอันดีของประชาชน”
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มว่า รัฐบาลมีเป้าหมายขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีความพร้อมทางการค้า และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แนวทางในการดำเนินการที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย การส่งเสริมการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน การสร้างมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรมให้กับสินค้าและบริการ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด และการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน