บอร์ดสับปะรดแห่งชาติ ไฟเขียวแผนปฏิบัติการดันส่งออก-สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมรับมือฤดูสับปะรด
1 ก.ค. 2564, 15:15
วันนี้ ( 1 ก.ค.64 ) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาในสามเรื่องหลักด้วยกัน คือ
1. แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมสับปะรด โดยให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการปรับปรุงบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างงานแรงงานระยะสั้นในภาคการเกษตรกับประเทศ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม และนำกลับมารายงานให้ที่ประชุมทราบในโอกาสแรก
2. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการผลิต เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป เพิ่มศักยภาพการส่งออก โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงการใช้นโยบายเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ/Bio เศรษฐกิจหมุนเวียน/Circular และเศรษฐกิจสีเขียว/Green) ของรัฐบาลเป็นแนวทางการดำเนินการของทุกภาคส่วน ส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด เพื่อเกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม
3. เตรียมพร้อมการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตออกมามากในช่วง ต.ค. - ธ.ค. ทั้งนี้ 10 จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสับปะรดของประเทศ ได้มีความพร้อมในเรื่องนี้อยู่แล้ว เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ร่วมกับหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ได้จัดคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด ที่จะมาเป็นหลักในการกระจายผลผลิต การเพิ่มช่องทางการขายonline และ offline การส่งเสริมการบริโภค การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า การทำสัญญาข้อตกลงกับโรงงานแปรรูป การส่งเสริมการแปรรูป เป็นต้น
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มว่า การส่งออกสับปะรดรวมทุกผลิตภัณฑ์ ตัวเลขช่วง ม.ค.- เม.ย. 64 มีมูลค่า 6.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปี 63 ที่มีมูลค่า 5.83 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.14 % อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการส่งออกจะดีขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงก่อนปี 2562 พบว่ามีมูลค่าลดลง ซึ่งเรื่องนี้ รองนายกฯจุรินทร์ ได้เร่งเข้าแก้ไข โดยได้มีการปรับปรุงแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด ใช้โมเดล “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เข้าดูแลอุตสาหกรรมสับปะรดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งเสริมการรับรองมาตรฐาน GAP และที่สำคัญคือการทำการตลาดเชิงรุกในตลาดต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าภายใต้แนวทางและแผนปฏิบัติการฯนี้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดและผู้ประกอบการได้อย่างแน่นอน