กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นประธานเปิดการแข่งขันออนไลน์ วิทยาศาสตร์โลก ครั้งที่1
26 มิ.ย. 2564, 13:01
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงเป็นประธานในพิธีการแข่งขันออนไลน์ วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุม อาคารหอพระสมุดส่วนพระองค์ วังสระปทุม
วันที่ 26 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 นาฬิกา ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ณ ห้องประชุม อาคารหอพระสมุดส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 1 The first earth science olympiad ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์(สอวน.)
ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ถ่ายทอดสดจากห้องประชุมอาคารหอพระสมุดส่วนพระองค์ วังสระปทุม ไปยังห้องประชุมไพลินภูธาร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โดยมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดกาญจนบุรี คณะผู้บริหารมูลนิธิ สอวน. คณาจารย์ คณะกรรมการจัดการแข่งขันและผู้เข้าแข่งขันเฝ้ารับเสด็จ หลังจากทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันเสร็จเรียบร้อย ได้ทรงทอดพระเนตรวีดีทัศน์ความเป็นมาของการจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ และทอดพระเนตรนิทรรศการผ่านโปรแกรมออนไลน์ ประกอบด้วย วีดีทัศน์ธรณีวิทยาหินปูนมีโซโซอิก พื้นที่เขาวังเขมรและวิทยาเขตกาญจนบุรี วีดีทัศน์ซากดึกดำบรรพ์จุลภาคเรดิโอลาเรียและโคโนดอน กับสภาพแวดล้อมธรณีวิทยาบรรพกาล พื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย วีดีทัศน์สภาพแวดล้อมกับการเปลี่ยนแปลงวัฏจักรพืชในภูมิภาคตะวันตก และวีดีทัศน์ฝุ่นในชั้นบรรยากาศของประเทศไทยและภูมิภาคตะวันตก
สำหรับการแข่งขันออนไลน์ วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 1 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและกระตุ้นให้มีการพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานระบบการเรียนการสอนวิชาสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศให้ทัดเทียมนานาประเทศ ทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเกิดความรักและสนใจที่จะมุ่งเน้นศึกษาทางด้านสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศและสัตว์อื่นๆที่เกี่ยวข้องในระดับอุดมศึกษา อีกครั้ง ยังจะประกอบอาชีพทางสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศหรือสาขาที่เกี่ยวข้องในอนาคต โดยในการแข่งขันได้คัดเลือกนักเรียนที่เป็นตัวแทนจากศูนย์ สอวน. ทั้ง 7ศูนย์ทั่วประเทศ ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยจำนวน 4 คนเข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 14 ณ สหพันธรัฐรัสเซีย
ซึ่งการจัดการแข่งขันในครั้งนี้จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ New Normal ลดความเสี่ยงในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และการแข่งขันจะดำเนินกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุม การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกรายเกิดความปลอดภัยตลอดการแข่งขัน