อาจารย์วิทย์เกษตร ม.มหิดล แนะวิธีสังเกตอาการ "โรคใบด่างมันสำปะหลัง"
16 มิ.ย. 2564, 17:18
วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2564 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า อ.ดร.ชนาณัฐ แก้วมณี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการย่อยการติดตามจำนวนประชากรแมลงหวี่ขาวพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว อยู่ภายใต้แผนงานการพัฒนารูปแบบธุรกิจและนวัตกรรมการผลิตและบริการท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสมรรถนะสูงพื้นที่ดำเนินการโคราชโมเดล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ลงพื้นที่แปลงมันสำปะหลัง อ.เมือง และ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา เพื่อเก็บข้อมูลและพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเกี่ยวกับปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งระบาดอยู่ในขณะนี้
จึงเสนอแนะ เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ว่า การนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังไปปลูกต้องสังเกตท่อนพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยสังเกตอาการโรคใบด่างมันสำปะหลัง จากนั้นให้คัดเลือกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นที่ไม่เป็นโรคก่อนนำไปปลูกและไม่นำท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดของโรคไปปลูกเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค
“ โรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava Mosaic Disease: CMD) เกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ลักษณะอาการโรค ยอดและใบมีลักษณะอาการหงิกงอเสียรูปทรง สีใบด่างเขียวอ่อนหรือเหลืองสลับเขียวเข้ม ลำต้นแคระแกร็น และหัวมีขนาดเล็กกว่าหัวของต้นที่ไม่เป็นโรค ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เกิดจากการนำท่อนพันธุ์เป็นโรคหรือแฝงโรคไปปลูกและมีแมลงหวี่ขาว (whitefly) เป็นแมลงพาหะนำโรค”
หากประชาชนในพื้นที่ใด มีปัญหาดังกล่าว สามารถสอบถามและปรึกษา มาที่ อาจารย์ดร.ชนาณัฐ แก้วมณี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โทรศัพท์ 034 585058 ในวันและเวลาราชการ