ผู้ว่าฯศรีสะเกษ ประกาศงดจัดงานทุเรียนภูเขาไฟ ปี 64 หลังเคยจัดมาต่อเนื่อง 3 ทศวรรษ
10 มิ.ย. 2564, 07:13
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ นายรุ่งเรือง รัตนผล ผจก.ฝ่ายไปรษณีย์ เขต 10 นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตร จ.ศรีสะเกษ นายธีระพงษ์ ค้ำโพธิ์ หัวหน้าไปรษณีย์ จ.ศรีสะเกษ น.ส.วาสนา อยู่ดี พาณิชย์ จ.ศรีสะเกษ นายธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้ร่วมกันแถลงข่าว ประชาสัมพันธ์เพิ่มช่องทางการตลาดทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มีกิจกรรมประกอบด้วย การลงนามข้อตกลงไปรษณีย์ไทย จับมือ จ.ศรีสะเกษ จัดทำ MOU ส่งตรงทุเรียนภูเขาไฟสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ การท่องเที่ยววิถีใหม่เที่ยวสวนทุเรียนภูเขาไฟแบบ New Normal การเปิดตัวทุเรียนภูเขาไฟพันธุ์ศรีสะเกษ 238 รูปแบบการจัดการตลาดทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษออนไลน์ โดยมี นายคมป์ สังข์วงษ์ นายอำเภอขุนหาญ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และมีบรรดาหัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกรชาวสวนทุเรียน และสื่อมวลชน มาร่วมรับฟังการแถลงข่าวกันอย่างคึกคักมาก
นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตร จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 8,552 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 3,527 ไร่ ยังไม่ให้ผลผลิต 5,025 ไร่ คาดการณ์ปริมาณผลผลิตทุเรียนภูเขาไฟใน ปี 2564 นี้ไว้ที่ 4,195.5 ตัน โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 1,190 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งคาดการณ์ราคาจำหน่ายปลีกหน้าสวน กิโลกรัมละ 160-180 บาท และราคาในตลาดอำเภอเมืองฯ ที่กิโลกรัมละ 180-200 บาท โดยคาดว่าทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษจะสร้างรายได้ คิดเป็นมูลค่า 713.23 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ย 170 บาทต่อกิโลกรัม) โดยผลผลิตจะออกมากที่สุด ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564
นายรุ่งเรือง รัตนผล ผู้จัดการฝ่ายไปรษณีย์เขต 10 กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) มีความประสงค์จะร่วมมือกันพัฒนาระบบงานในการบริการเกษตรกร กลุ่มชาวสวนผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ โดยมุ่งหวังที่จะให้ผู้สั่งซื้อทุเรียนภูเขาไฟได้บริโภคทุเรียนที่มีคุณภาพ มีอัตลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากทุเรียนในท้องถิ่นอื่น ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ที่มีช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ได้จัดส่งทุเรียนให้กับผู้สั่งซื้อด้วยความรวดเร็ว ตรงตามมาตรฐานที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กำหนด ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ ผ่านช่องทางไปรษณีย์ จึงได้ร่วมมือกับ ปณท. ในการจัดระบบการรับฝากและส่งต่อทุเรียนภูเขาไฟไปถึงผู้รับปลายทาง โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2564 ถึงวันที่ 31 ส.ค.2564 รวม 3 เดือน ค่าบริการฝากส่งเริ่มต้นเพียง 40 บาทเท่านั้น
น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า การท่อง เที่ยวชมสวนทุเรียนภูเขาไฟแบบ New Normal ในวันนี้ นอกจากจะเน้น ความสุข สนุก และประทับใจแล้ว ยังต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ด้วยการยึดแนวทางตามหลัก Social Distancing อย่างเคร่งครัด อาทิเช่น การใส่หน้ากากอนามัย พกเจอแอลกอฮอล์ก่อนออกจากบ้าน และสวมใส่ตลอดเวลาแม้อยู่บนรถ ล้างมือ กินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง การเว้นระยะห่างในระหว่างการท่องเที่ยว จ่ายใช้ผ่านมือถือแทนเงินลดเพื่อลดการสัมผัสระหว่างมนุษย์ ที่สำคัญและห้ามมองข้าม คือ การเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่บริการที่ดีได้มาตรฐานความปลอดภัย ด้านสุขอนามัย ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่าย โดยดูจากตราสัญลักษณ์ SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) หรือ มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย
ทางด้าน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ทุกปี จ.ศรีสะเกษ ที่ผ่านมา จะมีการจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จังหวัดได้ริเริ่มจัดมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาทุกปีรวม 3 ทศวรรษ 30 ปีแล้ว แต่ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ และเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้ง ยังมีมาตรการทางสาธารณสุข ที่รัฐบาลแนะนำให้ประชาชนลดระยะเวลาการทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุนให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (work from home) ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้าน ดังนั้น คณะกรรมการจัดงานฯ จึงได้มีการนัดประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ในการจัดงาน เมื่อวันพุธที่ 2 มิ.ย.64 ณ ห้องประชุมสำนักงานคลัง จ.ศรีสะเกษ โดยที่ประชุมมีมติ เห็นควรให้ยกเลิกการจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ประจำปี 2564 เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยคณะกรรมการจัดงานฯ ได้มีมติให้ดำเนินการเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เกี่ยวกับเอกลักษณ์เฉพาะและความโดดเด่นของทุเรียนภูเขาไฟ รวมทั้งการจำหน่ายทุเรียนในช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นทางเลือกให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการสินค้าในช่วงวิกฤติ สร้างความมั่นใจ ในคุณภาพของสินค้าให้กับผู้บริโภคอย่างเต็มที่ต่อไป