หาดบางแสน ทะเลสีมัจฉะ จากแพลงก์ตอนบลูม
28 พ.ค. 2564, 14:35
ที่เพจเฟซบุ๊ก ชอบจัง บางแสน มีรายงานภาพบรรยากาศชายหาดบางแสน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ผลิตชาเขียวจากสัตว์ทะเลแพลงก์ตอนบลูม อีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นแพลงก์ตอนประจำฤดูฝน "น็อคติลูกา" ที่มีสาหร่ายสีเขียวอยู่ในตัว และเกิดการแบ่งตัวรวดเร็วมหาศาล จนเต็มทะเลบางแสน ใครที่เดินเล่นรับลม อาจจะเริ่มได้กลิ่นคล้าย ๆ พืช คล้าย ๆ กลิ่นคาวเล็กน้อย แต่อีก 2-3 วัน จะเริ่มมีกลิ่นรุนแรงมากกว่านี้ และปรากฎการณ์นี้ อาจทำให้สัตว์น้ำที่อยู่ในบริเวณที่เกิดปรากฏการณ์นี้ตายได้ เพราะจะมีการแย่งออกซิเจนกันเกิดขึ้น
โดยปรากฏการณ์นี้เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม หรือ ชาวบ้านเรียกขี้ปลาวาฬ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำช่วงฤดูฝน ที่ บางแสน อาจประมาณ 3-7 วันก็จะกลับสู่ปกติ หรือ อาจจะถูกกระแสน้ำพัดพาไปยังส่วนอื่นๆ เมื่อน้ำขึ้น-น้ำลงก็ได้ และแสงก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้มันเพิ่มจำนวนเร็วขึ้นด้วยการสังเคราะห์ด้วยแสงของสาหร่ายพืช แต่ช่วงนี้แสงไม่ค่อยเยอะ การบลูมอาจจะช้า หรืออาจจะคลี่คลายได้ไวก็ได้
อย่างภาพอัพเดทในวันนี้ (28 พฤษภาคม) พบว่า แพลงก์ตอนเริ่มจางไปแล้ว เหลือแค่เศษ ๆ ขุ่น ๆ ที่คาดว่าน่าจะโดนน้ำจืด (ฝน) จนเซลล์แตก หรือ ถูกพัดยังบริเวณอื่น จนเหลือน้อยมาก ๆ อย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้านี้