เด็กชายชาวสุรินทร์ใช้เวลาว่าง ออกหา"ปูนา"นำมาทำเป็นอาหารอร่อย ไม่ลำบากครอบครัว
27 พ.ค. 2564, 16:47
สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ในเดือนพฤษภาคมนี้ ฝนได้เริ่มตกลงมา และเริ่มเข้าช่วงหน้าฝน เริมฤดูทำนาปี ของพี่น้องชาวสุรินทร์ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพในการทำนา เมื่อฝนตกลงมาความแห้งแล้งก็หดหายไป ตามท้องทุ่งนามีน้ำกักขัง นอกจากชาวนาจะดีใจแล้ว ที่จะได้น้ำทำนา ก็ยังมีพวกสัตว์ อาศัยอยู่ตามทุ่งนา เช่นกบ เขียด ปู ปลา ก็ได้ดีใจ กบเขียดส่งเสียงร้องทั่วท้องทุ่งนา
ขณะที่เด็กชายเกรียงไกร ขำบุญมั่น อายุ 10 ปี หรือน้องโซนี่ เด็กชาวบ้านโคกมะเมียน ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ มาพักอาศัย อยู่บ้านยายติดท้องทุ่งนา เมื่อฝนตกลงมา มีน้ำขังตามทุ่งนาใกล้บ้าน ช่วงกลางคืนฝนตก รุ่งเช้าตื่นนอนแต่เช้า ถือถังพลาสติก เดินลงทุ่งนา ตามแอ่งที่มีน้ำขัง ใช้วิถีชีวิตแบบชนบท ที่ตา ยาย สอนให้ใช้ชีวิต เพื่อความพอเพียง ดำรงชีพ แบบพึ่งพาธรรมชาติ ออกหาปูนา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีรูปูนา กระจายเต็มแอ่งน้ำ เพราะที่นา ทำนาแบบอินทรีย์ ไม่มีสารเคมีตกค้าง ทำให้ชีวิตของสัตว์ธรรมชาติ ได้ฟื้นตัว เป็นข้อดีมากๆของการทำเกษตรอินทรีย์ และสภาพดินที่อิ่มน้ำแล้ว ก็อ่อนนุ่ม ไม่แข็ง
น้องโซนี่ ใช้มือเปล่าๆล่วงลงไปตามรูปูนา ที่มีน้ำขังดินอ่อนนุ่ม สามารถล่วงจับเอาปูนา สดๆ สะอาด ได้เป็นจำนวนมาก กว่า 2 กิโลกรัม ซึ่งก็เอาแต่พอมาทำกับข้าวได้ ไม่เอามาเยอะ ส่วนตัวที่เหลือตามรูปู ก็จะขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ เมื่อได้ปูนา มาแล้วน้องโซนี่ก็นำมาล้างน้ำสะอาด แล้แกะเอากระดองปู่ออก แล้วนำมาคลุกเคล้ากับแป้งทอด ผงเพิ่มรสชาตินิดหน่อย เปิดเตาแก๊ส ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชลงกระทะ ให้ร้อน แล้วนำปูนาที่แกะ ผสมแป้งทอด ลงไปทอดให้สุกจนกระทั่งออกสีเหลืองน่ากิน กรอบอร่อย แล้วนำขึ้นมา ตักข้าวร้อนๆ นั่งกินอย่างอร่อย แซบๆ ตามวิถีชนบท หากินง่ายเมื่อธรรมชาติสมบูรณ์ และเก็บไว้ทำเอาหารได้อีกหลายมื้อด้วยกัน