นายกฯ ย้ำแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย พร้อมเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม-เทคโนโลยีในภูมิภาค
6 พ.ค. 2564, 10:17
วันนี้ (6 พฤษภาคม 2564) เวลา 08.05 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาผ่านระบบวีดิทัศน์ในพิธีเปิดการประชุม Microsoft APAC Public Sector Summit ซึ่งจัดในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ Empowering Nations for a Digital Society
โดยการประชุมจัดระหว่างวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2564 เพื่อหารือเกี่ยวกับบทบาทดิจิทัลและฐานข้อมูลในการช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยุคดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจพลังงาน ในการประชุมมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไมโครซอฟต์ร่วมกล่าวปาฐกถา พร้อมมีผู้แทนจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจกว่า 20 คน ร่วมอภิปรายในหัวข้อต่างๆ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และSmart City เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 5 พันคน จากประเทศเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ภายหลังการกล่าวปาฐกถา นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนต่อที่ประชุมฯ ถึงความคืบหน้าของการตอบสนอง การฟื้นฟู และการปฏิรูป ของประเทศไทยเพื่อสร้างสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุมในทุกมิติ พร้อมระบุว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดความท้าทาย แต่ได้สร้างโอกาสในหลายมิติ อาทิ การปรับตัวเข้ากับวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ มาตรฐานสุขอนามัยรูปแบบใหม่ และการเกิดโมเดลธุรกิจใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีศักยภาพในการรับมือและปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยตัวเลขผู้ป่วยที่ควบคุมไว้ได้ในระดับหนึ่ง และประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ค่อนข้างปกติ แต่จากจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลได้ทำทุกอย่างเพื่อให้ผ่านวิกฤตระลอกนี้ไปด้วยกัน มีการเตรียมการและวางแผนฟื้นฟูประเทศหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป มีมาตรการฟื้นฟูสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้ช่องทางดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขการแพร่ระบาดในด้านต่างๆ รวมทั้งแจกจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลเป็นอย่างดี มีการเข้าถึงอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ทั่วทั้งประเทศ ประชาชนไทยมีความพึงพอใจ และรัฐบาลตั้งเป้าจัดหาวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ภาครัฐจะฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยแก้ปัญหาภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยจะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอีกครั้ง โดยมีภูเก็ตเป็นจุดหมายนำร่องแห่งแรก เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมนี้
โดยความท้าทายต่อไปคือการวาดภาพยุทธศาสตร์การเติบโตในโลกใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในฐานะที่เป็นปัจจัยสนับสนุนสำหรับทุกภาคส่วน เช่น เทคโนโลยี Internet of Things (IOT) และระบบอัตโนมัติทั้งหลายที่จำเป็นต่อภาคยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการค้า การบริการ และการท่องเที่ยว ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้พร้อมสำหรับอนาคต ได้แก่ การระบุตัวตนแบบดิจิทัล เอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และการชำระเงินแบบดิจิทัล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือเส้นทางที่ไทยจะดำเนินต่อไป และมุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น การวางบทบาทของประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอินโดจีนของดาต้าเซ็นเตอร์ “สีเขียว” และบริการคลาวด์ ด้วยการใช้พลังงานทดแทนเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ในอนาคตอันใกล้นี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการตามเส้นทางสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัล จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคสำหรับบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวโครงการริเริ่มนำร่องต่าง ๆ เพื่อดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความสามารถสูง การพัฒนานโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดระบบนิเวศด้านนวัตกรรม ตลอดจนปรับปรุงความง่ายในการประกอบธุรกิจของไทย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลกำลังวางแผนการพัฒนาทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว และกล่าวขอบคุณที่ให้โอกาสรัฐบาลไทยได้มาแบ่งปันวาระแห่งชาติด้านดิจิทัลในวันนี้ และรัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานร่วมมือกันในอนาคต