"โรคไข้หูดับ" ระบาดหนัก คร่าชีวิตชาวโคราชแล้ว 3 ราย
8 เม.ย. 2564, 09:31
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หูดับ ที่ขณะนี้พบมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว ถึง 3 ราย
โดยในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6 เมษายน 2564 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้หูดับ จำนวน 21 ราย เสียชีวิต จำนวน 3 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในพื้นที่ อำเภอด่านขุนทด มีผู้ป่วยถึง 18 ราย ซึ่งป่วยจากการกินหมูดิบในงานบวชงานหนึ่ง ทำให้มีผู้ป่วยจนผู้เสียชีวิตจากการกินหมูดิบในงานนี้ 2 ราย
ทั้งนี้ โรคไข้หูดับ สามารถป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ทำให้หมูป่วยและติดต่อจากหมูสู่คน โดยการสัมผัสทางบาดแผลตามร่างกาย หรือเข้าทางเยื่อบุตา ผู้ที่เลี้ยงหมูหรือทำงานชำแหละหมู สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น นํ้ามูก น้ำลาย
รวมถึงผู้จำหน่าย และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ หลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบ เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
ดังนั้น ประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ เลี่ยงการซื้อหมูที่จำหน่ายข้างทาง ตลาดขายเร่ ตลาดขายของป่า หรือซื้อหมูมาชำแหละเอง ส่วนผู้เลี้ยงหมู ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู ควรสวมเสื้อ รองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ หลังงานเสร็จจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด
ไม่รับประทานลาบ ลู่ หมูดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ ให้กินอาหารที่ปรุงสุกร้อน ผ่านความร้อนอย่างน้อย 10 นาที ไม่ควรนำหมูที่ป่วยตายมาบริโภค และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหมูป่วย ที่สำคัญให้ล้างและฟอกสบู่ทุกครั้งที่สัมผัสหมูดิบหรือชำแหละหมู ขณะที่การปฏิบัติตัวเมื่อป่วย หากมีไข้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ขอบคุณข้อมูลจาก : bangkokbiznews