ดีขึ้นแล้ว ! "นครพนม" อากาศสดชื่น - คุณภาพดี เหมาะสำหรับล้างปอดสูดโอโซนกลางแจ้ง
5 เม.ย. 2564, 11:05
วันที่ 5 เม.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ในพื้นที่จังหวัดนครพนม มีสภาวะอากาศขมุกขมัว จนไม่สามารถมองเห็นภูเขาทางฝั่งประเทศลาวได้ เป็นผลจากการที่มีการเผาไหม้ทั้งที่ประเทศเวียดนามและลาว เพราะเป็นช่วงเข้าสู่เตรียมการปลูกผลผลิต ภาพถ่ายจากดาวเทียมจึงตรวจพบจุดความร้อน(HOTSPOT) จากการเผาไหม้กระจายเป็นวงกว้างนับร้อยจุด ฝุ่นควันจึงปลิวมากับแรงลมเข้าปกคลุมพื้นที่จังหวัดนครพนม จนมีค่า AQI สูงเป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสานอยู่หลายวัน
ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา เกิดพายุฤดูร้อนในพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดนครพนม ทำให้ฝนชะล้างฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้,ซัลเฟต และอนุภาคอินทรีย์ต่างๆที่ลอยอยู่ในอากาศตกลงพื้นไปกับน้ำฝน ทำให้ท้องฟ้าบริเวณจังหวัดนครพนมดูปลอดโปร่งและสดใสมากขึ้น สามารถมองเห็นภูเขาฝั่งประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างชัดเจน
ล่าสุดวันที่ 5 เมษายน 2564 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม ได้เผยแพร่ข้อมูลสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ณ สถานีอุตินิยมวิทยานครพนม เมื่อเวลา 07.00 น. ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI) อยู่ในระดับ 26 AQI และค่าฝุ่น PM2.5(ค่าเฉลี่ย 24 ชม.) เท่ากับ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) โดยสภาพเช่นนี้อยู่ในระดับคุณภาพอากาศดี นอกจากนี้ไม่พบจุดความร้อนขนาดใหญ่ (HOTSPOT) จากการเผาไหม้ในพื้นที่จังหวัดนครพนม (ข้อมูลวันที่ 4 เมษายน 2564) แม้แต่แห่งเดียว และไม่มีจุดความร้อนขนาดใหญ่(HOTSPOT) จากการเผาไหม้ในพื้นที่ประเทศลาว โดยเฉพาะในบริเวณเมืองหรือแขวงที่อยู่ติดกับจังหวัดนครพนม ลักษณะเช่นนี้จึงเหมาะแก่การทำกิจกรรมกลางแจ้ง ออกกำลังกายและท่องเที่ยวได้ตามปกติ
ค่า AQI คือ ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) เป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในภาพรวมที่ประกอบด้วยมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ 1.ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) 2.ก๊าซโอโซน (O3) 3.ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 4.ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) 5.ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) 6.ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษเป็นแหล่งข้อมูลและกำหนดมาตรฐาน AQI ของประเทศไทย ซึ่งมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป โดยใช้สีในการแบ่งระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งหาก AQI เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าสูงกว่า 100 จัดเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง มากกว่า 300 ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน