หน. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จัดทำแผนของบกว่า 188 ล้าน ทุ่มแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่
30 มี.ค. 2564, 14:07
วันนี้ ( 30 มี.ค.64 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ตนได้ไปร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการป้องกันแก้ไขปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ทำกิน และเยียวยาผลกระทบจากภัยช้างป่าอย่างเป็นธรรม ที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ
โดยในวันดังกล่าวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระได้จัดทำแผนการจัดทำของบประมาณ การแก้ไขปัญหาช้างป่างนอกพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พื้นที่ อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอบ่อพลอย ไปถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร ไปแล้ว
สำหรับรูปแบบปัญหาช้างป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จากการศึกษาประชากรด้วยวิธีการนับตัวจากลายพิมพ์รหัสพันธุกรรม (DNA) โดยใช้ไมโครแซทเทลไลท์ดีเอ็นเอ สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2556 พบว่า ช้างป่าสลักพระมีจำนวนอย่างน้อย 200 ตัว ประกอบด้วยช้างวัยก่อนเจริญพันธุ์ (Immature class) 64 % และช้างในวัยเจริญพันธุ์ (mature class) 36 % จากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เก็บพิกัดการพบร่องรอย ช้างป่า คาดว่า ปัจจุบันมีช้างป่า ไม่ต่ำกว่า 250 ตัว
กลุ่มที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กลุ่มย่อย 2-10 ตัว และตัวหากินเดี่ยวๆ ออกนอกพื้นที่เป็นประจำ และบางตัวยึดพื้นที่แนวชายขอบป่า ติดพื้นที่เกษตรเป็นถิ่นอาศัยประจำ และไม่กลับเข้าป่าด้านใน แก้ไขปัญหาด้วยการสร้างแนวป้องกัน ส่วนกลุ่มที่ไม่เคยออก หรือ ออกแล้วมีวงรอบกลับเข้าป่าด้านใน เป็นช้างฝูงส่วนมากที่ไม่เคยออกนอกพื้นที่ป่า ป้องกันปัญหาโดยการพัฒนาถิ่นที่อยู่อาศัยให้อุดมสมบูรณ์ตลอดเวลา
สรุปแผนงบประมาณ การแก้ไขปัญหาช้างป่านอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์สัตว์ป่า ท้องที่ อ.เมือง อ.ศรีสวัสดิ์ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี จำนวน 188,010,000 บาท (หนึ่งร้อยแปดสิบแปดล้านหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกัน และผลักดันช้างป่า เป็นเงิน 9,170,000 บาท ระยะสั้น เร่งด่วน การจัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวางป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 70 กิโลเมตร เป็นเงิน 146,300,000 บาท ระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่ง การพัฒนาศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นเงิน 32,540,000 บาท ต่อเนื่องตลอดเวลา
การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกัน และผลักดันช้างป่า เป็นเงิน 9,170,000 บาท กิจกรรมเครือข่ายอาสาสมัครผลักดันช้างป่ากลับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 23 เครือข่าย จำนวนเงิน 4,600,000 บาท เครือข่ายอาสาสมัครผลักดันช้างป่ากลับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 15 เครือข่าย พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 5 เครือข่าย พื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่า ศรีสวัสดิ์ 3 เครือข่าย ครอบคลุมหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบและมีการรวมกลุ่มผลักดันช้างป่าประจำ
โครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติเจ้าหน้าที่ชุดเครือข่ายอาสาสมัครผลักดันช้างป่ากลับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 2 ครั้งต่อปี จำนวนเงิน 1,000,000 บาท โดยจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติเพื่อความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับปัญหาช้างป่า วิธีการเฝ้าระวัง ผลักดัน ช้างป่าอย่างปลอดภัยจากหน่วยงานที่มีความรู้และประสบการณ์
ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap)แบบ Real Time (เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4 G) จำนวน 100 ตัว เป็นเงินจำนวน 3,570,000 บาท ซึ่งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (NCAPS) unit cost ตัวละ 35,700 บาท เพื่อสร้างระบบเตือนภัยเมื่อช้างป่าออกนอกพื้นที่ เสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ได้ทันเหตุการณ์
สำหรับการจัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวางป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 70 กิโลเมตร เป็นเงิน 146,300,000 บาท พื้นที่ดำเนินการ อ.เมืองกาญจนบุรี สร้างรั้วกันช้างกึ่งถาวรประกอบคูกันช้าง ระยะทาง 25 กิโลเมตร งบประมาณจำนวน 52,500,000 บาท โดยรั้วกึ่งถาวรงบประมาณ กม. ละ1,500,000 บาท ประกอบคูกันช้าง กม.ละ 600,000 บาท ครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบ ต.วังด้ง ต.ช่องสะเดา
และสร้างรั้วไฟฟ้าโซล่าเซลล์ 7 กิโลเมตร เป็นเงินจำนวน 14,000,000 บาท โดยใช้งบประมาณการก่อสร้าง กม.ละ 2,000,000 บาท โดยสร้างภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระระยาทาง 7 กิโลเมตร เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพรั้วกึ่งถาวรแบบสลิงค์ที่ดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2563
อ.ศรีสวัสดิ์ สร้างรั้วกันช้างกึ่งถาวรประกอบคูกันช้าง ระยะทาง 34 กิโลเมตร งบประมาณ 71,400,000 บาท งบประมาณการสร้างรั้วกึ่งถาวร กม. ละ 1,500,000 บาท ประกอบคูกันช้าง กม. ละ 600,000 บาท ครอบคลุมพื้นที่ราษฎรรับผลกระทบ ต.ท่ากระดาน ต.หนองเป็ด ต.ด่านแม่แฉลบ ต.เขาโจด ทั้งหมดสร้างภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ระยะทาง 29 กิโลเมตร และพื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่าศรีสวัสดิ์ จำนวน 5 กิโลเมตร
อ.บ่อพลอย สร้างรั้วกันช้าง ประกอบคูกันช้าง 4 กิโลเมตร งบประมาณ 8,400,000 บาท โดยสร้างรั้วกึ่งถาวร กม.ละ 1,500,000 บาท ประกอบคูกันช้าง กม.ละ 600,000 บาท ครอบคลุมพื้นที่ราษฎรรับผลกระทบ ต.หนองกุ่ม ต.บ่อพลอย
การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกัน และผลักดันช้างป่า เป็นเงิน 32,540,000 บาท งบประมาณดังกล่าวใช้ในกิจกรรมการขุดแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2,000 ลบ.ม.จำนวน 1 แหล่ง เป็นเงินจำนวน 2,200,000 บาท โดยขุดแหล่งน้ำภายในพื้นที่ตอนกลางของเขตรักษาพันสัตว์ป่าสลักพระ บริเวณแหล่งอาศัยสำคัญของช้างป่า
ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีลักษณะตื้น จำนวน 40 แหล่ง งบประมาณ 8,000,000 บาท โดยปรับปรุงแหล่งน้ำตามวงรอบการจัดสร้าง เนื่องจากแหล่งน้ำที่ช้างป่าใช้ประโยชน์เมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมานั้น จะมีลักษณะเป็นดินแดนตื้น ประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำได้น้อยมาก และไม่สามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี
เจาะบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์โซล่าเซลล์ จำนวน 6 จุด งบประมาณ 10,000,000 บาท โดยขุดเจาะบริเวณแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีการขุดสร้างแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อน้ำ โดยจะขุดเจาะบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติในการดำรงชีพในป่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันดูแลรักษา
ปลูกพืชไร่อาหารช้างป่า จำนวน 2,000 ไร่ งบประมาณ จำนวน 10,000,000 บาท การปลูกไผ่เพื่อเป็นพืชอาหารให้กับช้างป่าและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จากป่าไผ่ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพิ่มขึ้น
และปรับปรุงแปลงทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์ป่า จำนวน 2,000 ไร่ งบประมาณ จำนวน 2,340,000 บาท เพื่อดูแลรักษาสภาพแปลงทุ่งหญ้าในพื้นที่ป่าธรรมชาติให้คงสภาพทุ่งหญ้าที่ต้องมีการปรับปรุงทุกปี ไม่ให้มีวัชพืชที่สัตว์ป่าไม่ใช้ประโยชน์ เช่น สาบเสือ หนามคนทา ขึ้นปกคลุม