"พัฒนาฝีมือพะเยา" เปิดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเย็บ ระดับ 1
8 ส.ค. 2562, 09:06
วันที่ 8 สิงหาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONBNEWS รายงานว่า นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเย็บ ระดับ 1 ภาคความสามารถให้กับช่างเย็บสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านใหม่ราษฎร์บำรุงชาวผู้ไท (อีสาน-ล้านนา) ที่ได้ผ่านการฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน สาขาช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี (ชุดทำงานตามสมัยนิยม) จำนวน 10 คน ณ ศาลาอเนกประสงค์ วัดราษฎร์บำรุง หมู่ที่ 5 ต.สันโค้ง อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ทั้งนี้ ได้ทดสอบภาคความรู้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (E-testing) ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา
นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดเผยว่า สาขาอาชีพช่างเย็บ หมายถึง ผู้ชำนาญการเย็บหรือวัสดุสิ่งทอสาขาอาชีพอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม หรืออุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งมีความรู้ ความสามารถในการทำงานในส่วนการเย็บ ซึ่งผู้ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพช่างเย็บ ระดับ 1 จะต้องเป็นบุคคลที่มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงาน มีความรู้พื้นฐาน รู้หน้าที่ สามารถใช้จักรอุตสาหกรรม หรือจักรพิเศษเย็บชิ้นงานได้ตามที่กำหนด และแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในการเย็บให้มีคุณภาพในเวลาที่กำหนด ผู้เข้ารับการทดสอบต้องได้คะแนนภาคความรู้ ความเข้าใจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และคิดเป็นร้อยละ 20 ของคะแนนทั้งหมด สำหรับภาคความสามารถ จะทดสอบ ทดสอบวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การร้อยด้ายและปรับความตึงหย่อนของเส้นด้ายด้วยจักรอุตสาหกรรม 3 ประเภท คือ จักรเข็มเดี่ยวฝีเข็มกุญแจ (จักรเย็บ) ประเภทธรรมดา จักรพันริม (จักรพ้ง) 5 เส้น หรือจักรถักประสาน (จักรลา) ทดสอบเย็บลายเส้นบนกระดาษ (ลายเส้นตรงหักมุม ซิกแซ็ก และลายเส้นโค้ง) ทดสอบเย็บชิ้นงานได้ตามกําหนดด้วยจักรอุตสาหกรรม 1 ประเภท ทดสอบเย็บงานด้วยมือ เนา และสอยปลายขา ทดสอบเรียงลําดับการดูแลรักษาจักรก่อนและหลังการปฏิบัติงานและการเปลี่ยนเข็มจักร รวมถึงการทําความสะอาดบริเวณ โดยจะต้องได้คะแนนภาคความสามารถไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และคิดเป็นร้อยละ 80 ของคะแนนทั้งหมด
ทั้งหมด ผู้เข้ารับการทดสอบต้องได้คะแนนทั้งสองภาครวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของคะแนนทั้งหมด จึงจะถือว่าผ่านการทดสอบ ทั้งนี้ ผู้ผ่านมาตรฐานฯ สาขาช่างเย็บ ระดับ 1 ถือว่าเป็น “แรงงานคุณภาพ (super worker)” ที่จะได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ วันละ 345 บาท ซึ่งผู้ว่าจ้างจะมั่นใจได้ว่า ผลงานที่จ้างช่างเย็บที่ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงาน จะเป็นงานที่ดี มีคุณภาพ เชื่อถือได้