เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"นมควายไทย" จากฟาร์มไทย ทางเลือกใหม่สำหรับคนแพ้นมวัว


18 มี.ค. 2564, 11:42



"นมควายไทย" จากฟาร์มไทย ทางเลือกใหม่สำหรับคนแพ้นมวัว




กระบือ หรือ ควาย สมัยก่อนเกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงไว้เพื่อทำไร่ไถนา แต่ปัจจุบันควายเหล็กเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเกษตรของไทยแทน ส่งผลทำให้ควายไทยใกล้สูญพันธุ์ เพราะเกษตรกรไม่นิยมเลี้ยงไว้ใช้งานเหมือนในอดีต ซึ่งเมื่อหลายศตวรรษประเทศไทยเคยได้รับยกย่องว่ามีควายมากที่สุดในโลก

ขณะที่ปัจจุบัน ประชากรควายในประเทศไทยคงหลงเหลืออยู่ไม่ถึง 1 ล้านตัว แต่ที่เกษตรกรปัจจุบันเลี้ยงไว้ส่วนใหญ่เพื่อเชิงพาณิชย์ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ทว่าที่แท้จริงแล้วแม่พันธุ์ควายไทยเองก็สามารถให้นม เช่น เดียวกับแม่วัวพันธุ์ทั่วไป ที่สำคัญนมควายกลับให้โภชนาการสูง ทั้งแคลเซียมและไขมันที่ดีกว่านมวัวด้วยซ้ำ

โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ทำการวิจัยและการันตีคุณภาพนมควายนั้น มีคุณค่าคับแก้วมากกว่านมวัวจริง รวมทั้งผู้ที่แพ้นมวัว สามารถบริโภคได้ แต่ชาวไทยไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือนิยมบริโภคเหมือนนมวัวที่ขายดาษดื่นทุกร้านค้าทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันนมควายพาสเจอร์ไรซ์ออกมาจำหน่ายตามท้องตลาดให้ผู้บริโภคชาวไทยได้ดื่มกันแล้ว เช่น คุณพรหมพิริยะ สอนศิริ เจ้าของ "สอนศิริฟาร์มควายไทย" ตั้งอยู่ที่เลขที่66/1 ม.2 ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี บนเนื้อที่กว่า 300 ไร่ ซึ่งเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงควายไทยพันธุ์พื้นเมืองระบบปิด เลี้ยงในโรงเรือนแบบประณีต คุณภาพสูง ถือเป็นฟาร์มเลี้ยงควายรายแรกของประเทศไทยครบวงจรและได้มาตรฐานมากที่สุด มีควายทั้งสิ้นกว่า 300 ตัว ส่วนใหญ่เป็นควายเพศเมีย



จุดกำเนิด "สอนศิริ" ฟาร์มควายไทย

อดีตก่อนหน้านี้ คุณพรหมพิริยะ เคยยึดอาชีพเพาะเลี้ยงและจำหน่ายพันธุ์วัว แต่ราคาซื้อถูกมากสวนทางกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องควักเงินจำนวนมาก เพื่อเลี้ยงวัวให้ได้มาตรฐานสากล ด้วยความผิดหวังจึงหันไปลองทำ "สอนสิริ ฟาร์มควายไทย" เพราะต้องการสร้างความแปลกใหม่ และบุกเบิกการทำตลาดนมควายที่ไม่มีคู่แข่งมาแย่งส่วนแบ่งตลาด จึงเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างฟาร์มดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา

ถือว่าเป็นจุดเริ่มและต้นแบบเลี้ยงควายในโรงเรือนแบบประณีต เน้นความสะอาดถูกหลักอนามัย ไม่มีกลิ่นเหม็น แยกคอกออกมาชัดเจน พ่อ แม่ ลูก ควายขุน ในแต่ละคอกมีถังน้ำดื่ม ช่องใส่อาหาร มีที่นอนฟองน้ำปูรองป้องกันความเป็นแผลจากการคุกเขาเวลาลุกยืน ติดตั้งระบบพ่นน้ำทั่วโรงเรียนเพื่อช่วยคลายความร้อน และลดความเครียดให้ควายไปในตัว

ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นการเลี้ยงควายรูปแบบปิดที่ได้มาตรฐานแห่งแรกในประเทศไทย ที่ประณีตมากที่สุดผ่านการรับรองโดยกรมปศุสัตว์

"เมื่อปี 2557 ผมตัดสินใจสร้างฟาร์มขยายควายไทยพันธ์พื้นเมืองไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่เลือกควายไทย เพราะควายไทยทนต่อโรคและสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น อีกทั้งกินง่าย กินอาหารหยาบ โดยเฉพาะหญ้ากินได้ทุกชนิด แต่ขอเพียงมีแหล่งน้ำให้เขาได้ลงเล่นผ่อนคลาย ที่สำคัญควายไทยไม่ต้องเลี้ยงขุน โดยตามธรรมชาติรูปร่างและโครงสร้างสูง และตัวใหญ่อยู่แล้ว หากได้พ่อแม่พันธุ์ที่ดีในการผสมพันธุ์ยิ่งทำให้กลายเป็นควายไทยพันธุ์ยักษ์ชั้นเลิศ ซึ่งแหล่งที่ค้นพบควายไทยพันธุ์ยักษ์คุณภาพเยี่ยมใน 4 จังหวัด คือ อุบลราชธานี อุทัยธานี อุดรธานี และชลบุรี หากส่งจำหน่ายจะได้ราคาเริ่มต้นหลายแสนบาทไปจนถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว"


นมควายแบบพาสเจอร์ไรส์บรรจุขวด

คุณพรหมพิริยะ พลิกทัศนคติผู้บริโภคชาวไทยให้หันมาบริโภคนมควายพาสเจอร์ไรซ์ ชนิดขวด และนมควาย แบบผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ "สยามบัฟมิลก์" (SIAM BUFFMILK) โดยสามารถส่งจำหน่ายนมควายพาสเจอร์ไซร์ชนิดขวด(ราคา 55 บาท) ผ่านตัวแทนจำหน่ายแก่ร้านค้าตัวแทน และพ่อค้ารับซื้อทั่วไปทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

โดยการรีดนมควายมีขั้นตอนง่ายๆ  และเป็นธรรมชาติ โดยคัดเลือกแม่ควายสาวที่คลอดลูกได้ 1 เดือน  จะทำการรีดน้ำนมโดยมีขั้นตอนดังนี้ กลางคืนจะให้ลูกควายกินนมแม่ตามปกติ  ส่วนช่วงเวลาก่อนเวลา 08:00น.จะแยกแม่ลูกออกจากกันเพื่อมารีดน้ำนมที่โรงรีด จะต้องนำควายมาอาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาดแล้วทำการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อกระตุ้นให้ควายมีน้ำนม

จากนั้นก็ทำการบีบน้ำนมทิ้งก่อนเพื่อเป็นการล้างน้ำนมที่ตกค้างอยู่ในเต้านม ต่อจากนั้นใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดก่อนนำเครื่องรีดนมมาทำการรีดน้ำนมควาย ซึ่งในการรีดน้ำนมควายแต่ละครั้งแต่ละตัวไม่เกิน 5 นาที จะได้น้ำนมประมาณ 3-5 กิโลกรัม เท่านั้น  โดยในแต่ละวันจะรีดนมถึง 2 เวลา คือเช้า – เย็น หลังจากรีดน้ำนมเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นนมสดพาสเจอร์ไรส์ แล้วบรรจุในขวดแก้วเพื่อส่งขายต่อไป

ปัจจุบันถือว่าเป็นรายหลักของฟาร์ม ซึ่งยังไม่รวมการแปรรูปและต่อยอดตลาดผลิตภัณฑ์จากนมควายได้หลากหลาย  ซึ่งปัจจุบันนมควายแพ็คเกจจิ้ง เช่น ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต, มอซซาเรลลาซีส และไอศรีมนมควาย ฯลฯ ส่งจำหน่ายสามารถสร้างรายได้อีกไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อวัน


ขอขอบคุณ bangkokbanksme






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.