วิษณุ ผลักดันกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติ นำร่องแก้หมอกควันไฟป่าลด PM 2.5
8 ก.พ. 2564, 16:20
วันนี้ (8 ก.พ. 2563) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือสนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันพัฒนาองค์การชุมชน (องค์การมหาชน) และกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมความร่วมมือระหว่าง 6 ที่ทำให้เกิดการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 ฉบับ ประกอบไปด้วย 1) บันทึกความร่วมมือ การส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการ อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล การส่งเสริมอาชีพและชุมชนที่ทำกินและอยู่ที่อาศัยในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2) บันทึกความร่วมมือ การส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานควบคุมป้องกัน และดับไฟป่า และงานพัฒนาป่าชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และ 3) บันทึกความร่วมมือ การส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงาน หรือการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลและชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินภายในเขตพื้นที่โครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญในการกระจายอำนาจทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านอื่น ๆ เพื่อให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ พร้อมมุ่งหวังให้การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะเป็นการนำร่องแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดจากหมอกควันและไฟป่าที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเพื่อเป็นแบบอย่างแนวทางให้หน่วยงานอื่นนำไปปฏิบัติใช้อีกด้วย