"เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี" ทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ต เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ
11 ม.ค. 2564, 09:39
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ต รายการ “Brave Frontiers” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมยกระดับวงดนตรีรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนี ออร์เคสตร้า (RBSO) ก้าวสู่ความเป็นเลิศทางดนตรีระดับเวิลด์คลาส เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งร่วมจัดโดย มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยความสนับสนุนของ บี.กริม, บมจ.กรุงเทพ ดุสิตเวชการ (BDMS), เมืองไทยประกันภัย, มูลนิธิ เอสซีจีและโรงแรมอนันตราสยาม
คอนเสิร์ตรายการ “Brave Frontiers”เป็นการบรรเลงผลงานมาสเตอร์พีซของคีตกวีเอกยุคโรแมนติก ร่วมด้วย นิคลาส ลิเพอร์(Niklas Liepe) ศิลปินเดี่ยวไวโอลินชื่อดังระดับนานาชาติชาวเยอรมัน บรรเลงเดี่ยวกับวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า (RBSO) อำนวยเพลงโดย มิเชล ทิลคิน (Michel Tilkin)ผู้อำนวยการด้านดนตรีวง RBSO จัดแสดง เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดย มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยความสนับสนุนของ บี.กริม,บมจ.กรุงเทพ ดุสิตเวชการ (BDMS), เมืองไทยประกันภัย, มูลนิธิ เอสซีจี และโรงแรมอนันตราสยาม จัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามคำประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดจุดเข้า-ออกการคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่ การกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ โดยจัดให้มีระยะห่างระหว่างผู้ชมและผู้แสดง โดยผู้ชมต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ฯลฯ
เพลงในรายการเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของคีตกวีเอกยุคโรแมนติก คือ ไวโอลิน คอนแชร์โตในบันไดเสียง D ไมเนอร์ ผลงานของ ฌอง ซิเบลิอุส คีตกวีชาวฟินแลนด์ แนวกระแสชาตินิยม ผู้ปลุกจิตวิญญาณของชาวฟินแลนด์ด้วยเสียงดนตรี ทำให้มีความรักชาติ และเพลงบรรเลงสองบท คือ บทโหมโรง “Overture - Romeo and Juliet” ของไชคอฟสกี และซิมโฟนีหมายเลข 9 ซึ่งมีชื่อว่า “From the New World” ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากให้กับ อันโตณีนดโวชาก บทเพลงนี้มีความหลากหลาย มีสีสัน ไพเราะจับใจ ท้าทายฝีมือศิลปินเดี่ยว ผู้อำนวยเพลง และวงออร์เคสตร้า
รายการเริ่มด้วยบทโหมโรง “Overture -Romeo and Juliet” ไชคอฟสกีได้รวมทำนองเด่นจากดนตรีประกอบบัลเล่ต์ชื่อเรื่องเดียวกัน มาร้อยเรียงได้อย่างไพเราะ ไฮไลท์ คือ “ไวโอลินคอนแชร์โต ในบันไดเสียง D ไมเนอร์” เพลงเดี่ยวไวโอลินที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากให้กับ ฌอง ซิเบลิอุส ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้เริ่มตั้งแต่เริ่มต้นท่อนแรก ซึ่งศิลปินเดี่ยวไวโอลินบรรเลงทำนองที่คร่ำครวญ ไพเราะจับใจ นำเข้าสู่ดนตรีที่หนักแน่น แสดงอารมณ์ทั้งตื่นเต้น เร้าใจช่วงคาเด็นซ่า วงจะหยุดบรรเลง เปิดโอกาสให้ศิลปินเดี่ยวได้โชว์ฝีมือ เสมือนการด้นสด บรรเลงทำนองเดี่ยวอันโลดโผน วิจิตรพิสดาร แสดงกลเม็ดเด็ดพรายและชั้นเชิงการเล่นอย่างเต็มที่ ด้วยความคิดและอารมณ์อย่างมีอิสระทรงพลัง ท่อนที่สอง ให้ความรู้สึกและบรรยากาศลึกลับ ครุ่นคิด และค่อยๆ ทวีความเข้มข้นด้วยเสียงดนตรีที่หนักแน่น จากนั้นบรรเลงอย่างแผ่วเบา หวีตสูงขึ้น และจบลงอย่างเงียบงัน ท่อนสุดท้ายศิลปินเดี่ยวจะโชว์ฝีมืออีกครั้ง แสดงเทคนิคการบรรเลงเดี่ยวขั้นสูง ประชันกับวงด้วยทำนองที่เร่งเร้า ตื่นตาตื่นใจ และจบลงอย่างหนักแน่น งานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบรรดาไวโอลินคอนแชร์โตยอดเยี่ยม ไพเราะและมีความยากทางเทคนิคมากที่สุดถือเป็นเพลงเดี่ยวไวโอลินมาตรฐานในยุคปัจจุบัน เป็นเพลงทดสอบการแข่งขันไวโอลินระดับโลก รายการ International Jean Sibelius Violin Competition และการแข่งขันไวโอลินระดับทั้งหลาย
เพลงสุดท้าย ซิมโฟนีหมายเลข 9 ซึ่งมีชื่อว่า “From the New World” ดโวชากประพันธ์งานชิ้นนี้ในช่วงที่ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยดนตรีแห่งนิวยอร์กที่นั่นเขาได้พบผู้คนทั้งชาวอเมริกัน, อเมริกันอินเดียนหรืออินเดียนแดง, คนผิวสีในสหรัฐอเมริกา ได้พบเพื่อนร่วมชาติชาวโบฮีเมียนหรือเชโกสโลวาเกียบรรยากาศที่นั่นเสมือนเป็นโลกใหม่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขานำทำนองดนตรีจากเพลงพื้นบ้านของชนชาติดังกล่าวมาเป็นฐานในการประพันธ์ซิมโฟนีบทนี้ อาทิ ในท่อนแรกจะได้ยินเสียงฟลุทเดี่ยวทำนองอันไพเราะซึ่งมาจากเพลงสวดของพวกอินเดียนแดง ท่อนที่สอง ลีลาเชื่องช้า อ่อนโยน ปี่อิงลิชฮอร์นจะบรรเลงเดี่ยวทำนองที่สวยงาม คลอโดยกลุ่มเครื่องสายที่บรรเลงอย่างแผ่วเบา ให้ความรู้สึกโหยหา เศร้าสร้อย และอบอุ่น ทำนองนี้มีชื่อเสียงคุ้นหูมาก มักนำไปบรรเลงในพิธีไว้อาลัยทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในสงคราม ท่อนที่สาม รื่นเริงสนุกสนาน มีสำเนียงเพลงเต้นรำพื้นบ้านของชาวโบฮีเมียน และท่อนที่สี่ซึ่งเป็นท่อนสุดท้าย ให้ความรู้สึกฮึกเหิม เร้าใจ ช่วงท้ายของท่อนนี้ กลุ่มเฟร้นช์ฮอร์นจะบรรเลงทำนองที่สง่างาม เปี่ยมไปด้วยพลังและจบลงอย่างอลังการ ซิมโฟนี
หมายเลข 9 “The New World” เป็นหนึ่งในซิมโฟนีที่นิยมฟัง และนำออกแสดงมากที่สุดเมื่อ 50 ปีก่อน องค์กรนาซาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ส่งยานอพอลโล 11 พานักบินอวกาศไปดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ทันทีที่ นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ เขาได้นำเทปที่บันทึกเสียงซิมโฟนีบทนี้เปิดให้ผู้คนทั่วโลกฟังระหว่างการถ่ายทอดสดออกอากาศเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น