ทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 จัดสรรที่ดินให้ราษฎร ทำโครงการพอเพียง ช่วยป้องกันปัญหาไฟป่า
18 ธ.ค. 2563, 11:28
วันที่ 18 ธ.ค. 63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่บริเวณศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพระเจดีย์สามองค์ หมู่ที่ 9 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พ.อ.บรรเจิด จันทร์ส่งเสริม รอง.ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.กาญจนบุรี นายไพโรจน์ แก้วเขียว หน.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ 5 เดินทางมาติดตามความคืบหน้าโครง โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ “คนอยู่กับป่า อย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อเร่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารที่ถูกทำลาย ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม พร้อมการสร้างจิตสำนึกด้วยกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนร่วมฟื้นฟูป่า เป็นผู้รักษาป่าและอยู่ร่วมกับป่าอย่างกลงกลืนแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งพัฒนาคุณชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งมีการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ราษฎร ครอบครัวละ5 ไร่ จำนวน 30 ครอบครัว ตามมติ ครม 30 มิ.ย 41 และคำสั่ง คสช ที่ 66/57 ในพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม ที่ประสบปัญหาไฟป่าไหม้รุนแรงทุกปี เนื่องจากมีวัชพืชจำพวกหญ้าคา ซึ่งเป็นเชื้อไฟ และอยู่ใกล้ชายแดน ทำให้มีการลักลอบเข้ามาจุดไฟหาของป่าของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน
โดยคัดเลือกราษฎรที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกิน มาร่วมโครงการโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี (เกษตรที่สูง) เกษตรอำเภอสังขละบุรี ในการเข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้การปลูกพืชสวน ที่สามารถขึ้นร่วมกันป่าในธรรมชาติอาทิ กาแฟ กล้วย หมาก และไม้สำหรับไว้ใช้สอยประโยชน์ในอนาคต ตามทฤษฎีป่า 5 ระดับ และป่า 3 อย่างประโยชน์ 4อย่าง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปลูกผักที่ใช้น้ำน้อย อายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพื่อไว้บริโภคและจำหน่าย รวมทั้งเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้แก่สมาชิกในโครงการ รวมทั้งประชาชน หน่วยงาน ที่สนใจ
ขุดบ่อเพื่อสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 3 ผลที่ได้รับตามมาคือลดปัญหาการบุกรุกป่า คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น พื้นที่ป่าและความอุดมสมบูรณ์ของป่าดีขึ้น ที่สำคัญช่วยทำให้ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่หายไป ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศในพื้นที่ ซึ่งอนาคตจะมีการขยายโครงการนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆในพื้นที่ อ.สังขละบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในทุกปีเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่รัฐต้องทุ่มเททรัพย์บุคคลและงบประมาณในการแก้ไขทุกปี