"บิ๊กป้อม" หารือ คกก.แม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เตรียมเจรจา MRC ครั้งที่ 27
18 พ.ย. 2563, 13:20
วันนี้ (18 พ.ย.63) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 3/2563 โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เข้าร่วมด้วย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 27 ร่วมกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ อาทิ 1) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงระยะ 10 ปี (ปี 2564 - 2573) และแผนกลยุทธ์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระยะ 5 ปี ( ปี 2564 - 2568) ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางและแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำในช่วง 10 ปีข้างหน้า มีการเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง และการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนกลยุทธ์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 2) ยุทธศาสตร์การจัดการสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อพัฒนากลยุทธ์เสริมสร้างการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยได้เลือกพื้นที่ศึกษา 3 แห่งได้แก่ 1. แม่น้ำสงครามตอนล่าง จ.นครพนม 2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย เวียงหนองหล่ม และบริเวณแม่น้ำโขงสายประธาน จ.เชียงราย และ 3. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.สระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก โดยมอบหมายให้ กองอาสารักษาดินแดน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ในการขับเคลื่อนการคุ้มครองสินทรัพย์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย 3) แผนแม่บทการคมนาคมขนส่งทางน้ำ เพื่อเป็นกรอบโครงการพัฒนา ปรับปรุงฟื้นฟูการขนส่งทางน้ำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดริมน้ำโขง และเสริมสร้างร่วมมือในการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศสมาชิก เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการสรุปผลการหารือ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ เสนอต่อคณะผู้แทนไทยเพื่อใช้เป็นกรอบท่าทีในการเจรจาในการประชุมร่วมกับประเทศสมาชิกต่อไป
พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้รับทราบและติดตามสถานการณ์น้ำโขงที่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งคาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะมีค่าอยู่ระหว่างค่าระดับน้ำเฉลี่ยของทุกสถานี รวมถึงข้อห่วงกังวลเรื่องความผันผวนของระดับน้ำที่ไม่แน่นอน ซึ่งที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) วิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งข้อมูลให้หน่วยงาน และจังหวัดริมน้ำโขงที่อาจได้รับผลกระทบ ทราบล่วงหน้าเพื่อการเตรียมการรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ที่ประชุมได้ติดตามสถานะและพิจารณาการดำเนินการตาม PNPCA โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว โดย สทนช. ได้ส่งข้อมูลให้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พิจารณาให้ความเห็นเรื่องเขตแดน รวมถึง สทนช. ได้รับมอบหมายให้รวบรวมความเห็นทางวิศวกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับประเด็นที่มีนัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยและเส้นเขตแดน เพื่อแจ้งผู้พัฒนาโครงการผ่าน MRCS และเห็นชอบให้ผู้พัฒนาโครงการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบให้มีความชัดเจน รวมทั้งได้มอบหมายให้ สทนช. ติดตามข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูงอย ของ สปป.ลาว อย่างใกล้ชิด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ความเห็น โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นว่าควรเสนอในกรอบเวทีการเจรจาประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงต่อท่าทีประเทศไทยให้มีการดำเนินกระบวนการการแจ้ง การปรึกษา หารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) โครงการนี้ ภายหลังสิ้นสุดกระบวนการ PNPCA โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามแล้ว