ชมความงดงาม ! “ถ้ำนาคี” ตำนานราชาถูกสาปเป็นหิน ตะลึงพญานาคให้น้ำหล่อเลี้ยง (คลิป)
3 พ.ย. 2563, 14:34
ณ เวลานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักถ้ำนาคา ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา และอยู่ใกล้กับวัดถ้ำชัยมงคล ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เหตุที่ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่าถ้ำนาคา เนื่องจากมีของหินและผนังถ้ำดูคล้ายพญานาค ที่มีรูปทรงคล้ายพญานาคหรืองูขนาดใหญ่นอนขนดตัว โดยตามจินตนาการและความเชื่อของชาวบ้านกล่าวว่าที่นี่คือถ้ำพญานาค
นักท่องเที่ยวจะทราบหรือไม่ว่า บนเขาภูลังกาแห่งนี้ ที่มีลักษณะเป็นภูเขาทับซ้อนกัน 3 ลูก สลับด้วยเทือกเขาขนาดเล็กสลับซับซ้อนทอดยาวตามแนวลำแม่น้ำโขง สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังที่สมบูรณ์ มีสัตวป่า๙กชุม และเป็นต้นกำเนิดของลำธารน้อยใหญ่หลายสาย มีเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งมหัศจรรย์ถึง 7 ตำนาน ได้แก่ 1.ตำนานราชาที่ถูกสาปเป็นหิน 2.ตำนานแห่งดินแดนเมืองบังบด หรือเมืองลับแล 3.ตำนานเมืองพญานาค 4.ตำนานดินแดนประสูติพระเจ้า 5 พระองค์ 5.ดินแดนสนามรบกิเลสของเถราจารย์ชื่อดังหลายรูป 6.ตำนานอาถรรพ์อันศักดิ์สิทธิ์ และ 7.ดินแดนสมุนไพร ในเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูลังกา ตั้งขนานกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 (นครพนม-บ้านแพง-บึงกาฬ) ห่างจากอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ประมาณ 10 กม. มีพื้นที่ประมาณ 31,250 ไร่ ครอบคลุมอำเภอบ้านแพง อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม และอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ
หลังมีการค้นพบถ้ำนาคา ในเขตพื้นที่อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ ก็สร้างความฮือฮาแก่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยการขึ้นไปเที่ยวถ้ำแห่งนี้ต้องเดินขึ้นบันไดสูงชันด้านวัดถ้ำชัยมงคล ต.โพธิ์หมากแข้ง ที่ทางอุทยานฯ จัดสร้างขึ้นไปกว่า 1,400 ขั้น ใช้เวลาเดินราว 1-1.30 ชั่วโมง จึงจะถึงจุดที่ตั้งของถ้ำนาคา บนภูเขาลูกเดียวกันนี้ ห่างจากถ้ำนาคาอันโด่งดังไปไม่มากนัก จะเข้าสู่เขตพื้นที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม จะมีถ้ำอีกแห่งหนึ่ง ที่มีลักษณะไม่ต่างจากถ้ำนาคา หากจะเปรียบเทียบกันให้เข้าใจได้ง่าย คือ ทั้งสองถ้ำนี้มีฝาบ้านติดกัน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ตั้งชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า”ถ้ำนาคี” ความสวยงามก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ด้วยเหตุนี้จึงมีตำนานเชื่อมโยงกับความเชื่อของถ้ำทั้งสองแห่งนี้ว่า ถ้ำนาคา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ และ ถ้ำนาคี อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม คือพญานาคหรืองูยักษ์ที่ถูกสาปให้กลายเป็นหิน
ผู้เขียนจึงนำตำนานราชาที่ถูกพญานาคสาปเป็นหินมาเล่าให้ฟัง จากความเชื่อของชาวบ้านในท้องถิ่น จะกล่าวถึง”ปู่อือลือ” ที่ข้องเกี่ยวกับ”ถ้ำนาคา ถ้ำนาคี” ว่า เกิดจากการล่มสลายเมืองของพญานาค ซึ่งเหตุมาจากความรักอันไม่สมหวังระหว่างพญานาคกับมนุษย์ ทำให้เมืองที่เจริญรุ่งเรืองล่มสลาย
กล่าวกันว่าบริเวณแห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมืองชื่อ “รัตพานคร” มีพระอือลือราชา เป็นผู้ครองนคร มเหสีชื่อนางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อพระนางเขียวคำ ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสามพันตา มีพระโอรสชื่อเจ้าชายฟ้ารุ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้และมีรูปงาม ด้วยขณะประสูตินั้นมีท้องฟ้าสว่างไสว
ต่อมาเจ้าชายฟ้ารุ่งได้อภิเษกสมรสกับ “นาครินทรานี” ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาคราชแห่งเมืองบาดาลที่แปลงกายมาเป็นมนุษย์ งานแต่งงานของคู่รักนี้จัดกันอย่างมโหฬารทั้งเมืองบาดาลและเมืองมนุษย์(รัตพานคร) จัดเฉลิมฉลองถึง 7 วัน 7 คืน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธไมตรี ระหว่างพญานาคราชกับพระเจ้าอือลือราชาในโอกาสนี้ด้วย
ทั้งสองอยู่กินกันมาเป็นเวลา 3 ปี ก็ไม่สามารถจะมีผู้สืบสายสกุลได้ (เพราะธาตุมนุษย์กับนาคเข้ากันไม่ได้) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับทั้งสอง ต่อมาเจ้าหญิงนาครินทรานีล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางที่เป็นมนุษย์กลายเป็นนาคตามเดิม โดยข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไปทั่วกรุงรัตพานคร และถึงแม้นางจะร่ายมนต์กลับเป็นมนุษย์แล้วก็ตาม ประชาชนและพระเจ้าอือลือก็ไม่พอใจ จึงได้ขับไล่นางนาครินทรานีกลับสู่เมืองบาดาลดังเดิม
โดยได้แจ้งให้พญานาคราชมารับตัวกลับ แต่ก่อนกลับพญานาคราชได้ขอเครื่องกกุธภัณฑ์ของตระกูลคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนให้ได้ เนื่องจากนำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่น ทำให้พญานาคราชกริ้วมาก และประกาศว่าจะทำลายเมืองรัตพานคร และจะเหลือเอาไว้เพียง 3 วัดเท่านั้น หลังจากพญานาคกลับไป ตกในคืนวันเดียวกันนั้นไพร่พลของพระยานาคราช ได้ยกมาถล่มเมืองรัตพานครจนราบคาบเป็นหน้ากลอง ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์ของนาคได้ จนพื้นดินที่เคยเป็นเมืองรัตพานครในอดีต ถล่มจมหายกลายเป็นหนองน้ำเวิ้งว้างกว้างใหญ่ ชาวเมืองล้มตายเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากนางนาครินทรานีไม่ทราบว่าพระบิดาจะมาถล่มเมืองรัตพานคร เพราะพระยานาคราชปิดบังเอาไว้ไม่อยากให้ลูกสาวรู้ แต่นางนาครินทราก็ทราบเรื่องราวทั้งหมดจนได้ และพอทราบก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่งทั่วบึงของหลง ถึงแม่น้ำสงครามก็ไม่พบ จึงได้กลับเมืองบาดาล
ส่วนเมืองรัตพานครหลังถูกถล่มจนกลายเป็น “บึงหลงของ” เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะพระอือลือราชาได้ปิดบังลุ่มหลงเอาสมบัติทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นของตน และเวลาต่อมาได้เพี้ยนกลายเป็น “บึงโขงหลง” ในปัจจุบัน จากพื้นดินอันเป็นที่ตั้งของรัตพานครจึงกลายเป็นเวิ้งน้ำ แต่ในช่วงที่ไพร่พลพญานาคเข้าทำลายเมืองนั้น ยังมีวัดที่ตั้งอยู่ในรัตพานคร ที่พระยานาคราชและไพร่พลไม่ทำลาย ให้เหลือไว้เป็นที่สักการะของผู้คนที่จะมาพบเห็นในกาลต่อไป ซึ่งวัดเหล่านั้นได้เสื่อมสภาพลง กลายเป็นเกาะและป่าขนาดเล็กที่มิได้จม หรือถูกทำลายให้กลายเป็นพื้นน้ำ วัดเหล่านั้นจึงปรากฏเป็นชื่อดอน หรือเกาะต่างๆ ในบึงโขงหลงในปัจจุบัน ดังนี้ วัดแก้วฟ้า หรือวัดดอนแก้ว ปรากฏเป็นดอนแก้วในปัจจุบัน วัดโพธิ์สัตว์หรือวัดดอนโพธิ์มาเป็นดอนโพธิ์ และวัดแดนสวรรค์ กลายเป็นดอนสวรรค์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง
และสถานที่ที่มีชื่อปรากฏตามตำนานในปัจจุบันคือ เส้นทางที่นางนาครินทรานีเดินทางตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่งจากบึงโขงหลงไปยังแม่น้ำสงคราม เส้นทางดังกล่าว กลายเป็นแม่น้ำเมาที่เชื่อมต่อบึงโขงหลงและแม่น้ำสงคราม ส่วนคำว่าน้ำเมา หรือห้วยน้ำเมานั้น เป็นเพราะเกิดจากความลุ่มหลงในรักของพระธิดาของพระยานาคที่มีต่อเจ้าชายฟ้ารุ่ง ซึ่งตกอยู่ในอาการที่เรียกว่ามัวเมาในความรัก จึงเป็นเส้นทางแม่น้ำที่เรียกว่าน้ำเมา
อย่างไรก็ตาม ตำนานได้กล่าวไว้ว่าพระอือลือราชา ไม่ได้สิ้นพระชนม์ไปกับเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถูกพระยานาคราชจับตัวไว้ พร้อมกับสาปให้พระอือลือราชากลายร่างเป็นนาคเฝ้าอยู่ในบึงโขงหลงชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมีเมืองเกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้ จึงจะล้างคำสาปของพระยานาคราชได้ ดังนั้น ก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายพญานาค ชาวบ้านจึงมีความเชื่อว่าคือพระอือลือราชาที่ถูกสาปให้เป็นงูใหญ่แล้วกลายเป็นหิน
สำหรับเส้นทางไปถ้ำนาคาฝั่งอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ นักท่องเที่ยวคงทราบกันแล้ว จะเหลือแต่เส้นทางไปยังถ้านาคีฝั่งอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ที่ยังไม่ค่อยทราบกัน เหมือนที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า ทั้งสองถ้ำเหมือนบ้านฝาติดกัน หากตั้งใจไปชมถ้ำเพียงอย่างเดียว เหมาะที่จะเลือกทางขึ้นที่วัดถ้ำชัยมงคลดีที่สุด แต่ถ้านักท่องเที่ยวสาย adventure(การผจญภัยฯที่น่าตื่นเต้น) ควรจะใช้เส้นทางขึ้นถ้ำนาคีดูจะเร้าใจมากกว่ากันเยอะ
เส้นทางไปยังถ้ำนาคีอยู่ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม โดยทางอุทยานฯเก็บค่าเข้าชมคนละ 20 บาท บริการที่จอดรถอีกคันละ 30 บาท เห็นป้ายบอกระยะทางดูจุ๋มจิ๋มแค่กิโลเมตรเศษๆ ทางเดินเริ่มจากทางลาดซีเมนต์กว้างประมาณ 2 เมตร ขึ้นลงเนินลดหลั่นคดไปเคี้ยวมา ทำให้จินตนาการไปว่าขณะนี่เรากำลังเดินอยู่บนหลังพญานาค
ระหว่างทางอุทยานฯทำป้ายเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับผืนป่า แมลง และสมุนไพร ให้เราได้หยุดพักอ่านกัน มีจุดแวะพักดื่มน้ำริมน้ำตก พร้อมชมหินที่คล้ายหัวพญานาค พอหายเหนื่อยก็ตะลุยต่อ ช่วงนี้จะได้เห็นสายน้ำบางจุดไหลลอดใต้ก้อนหินไปโผล่อีกแห่งหนึ่ง และหนทางเริ่มทรหดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแลเห็นป้ายบอกไปถ้ำนาคี และผานาคี เพียงไม่กี่ร้อยเมตร นักท่องเที่ยวสายผจญภัยจะได้พบกับทางหฤโหด ต้องไต่ทางลาดชันที่ปูลาดด้วยก้อนหินใหญ่ ซึ่งอุทยานฯเขามีเชือกไว้ให้ไต่ปีนกัน เสื้อผ้าจะชุ่มไปด้วยเหงื่อ
กระทั่งเกือบถึงจุดสูงสุดก็เห็นป้ายกระดาษเขียนแปะติดก้อนหินว่า”หัวนาคี”ลักษณะคล้ายพญานาคก้มหัวลงมาพ่นน้ำ โดยคติโบราณเชื่อกันว่านาค หรือพญานาค เป็นผู้บันดาลให้ฝนตก เหตุที่ต้องมีหน้าที่ให้ฝนตก เพราะพญานาคเป็นพาหนะพระวรุณ เทพแห่งฝน นั่นเอง
ดังนั้นตรงบริเวณพื้นล่างจึงมีน้ำตก อาทิ น้ำตกไทรงาม น้ำตกผาสวรรค์ และ น้ำตกตาดโพธิ์ ไหลสู่ลำห้วยหล่อเลี้ยงเกษตรกรปลูกพืชและชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค
ชื่นชมความสวยงามของถ้ำนาคีจนเป็นที่พอใจ เดินไต่ก้อนหินและบันไดเหล็กไปอีก 200 เมตร ก็จะพบกับบรรยากาศบนยอดภูลังกา บริเวณนี้เรียกว่า”ผานาคี” คือจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามที่สุด และท่านก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้พิชิตภูลังกาอีกคนหนึ่ง
ส่วนการเดินทางไปเที่ยวชมถ้ำนาคา จังหวัดบึงกาฬ มีสื่อบางสำนักระบุว่าต้องลงเครื่องบินที่จังหวัดอุดรธานี แล้วค่อยเช่าเหมารถมายังถ้ำนาคา ตำบลโพธิ์หมากแข้ง ที่มีระยะทางประมาณ 200 กม. นั้น เป็นข้อมูลที่ผิดพลาดมาก
เส้นทางที่สั้นและสะดวกที่สุด ต้องลงเครื่องบินที่จังหวัดนครพนม จากนั้นเช่าเหมารถไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบ้านแพง มีระยะทางเพียง 100 กม. เท่านั้น หลังเที่ยวชมถ้ำนาคี แล้วเดินไปอีกหน่อยก็เจอถ้ำนาคา วันเดียวชมเที่ยวได้ทั้งสองถ้ำ แถมระยะก็สั้นกว่ากันเยอะเลย หรือถ้าไม่มั่นใจก็สอบถามเส้นทางกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติภูลังกา 084-7923505,081-7252684 หรือเว็บไซต์ www.dnp.go.th