เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี จัดโครงการ kick off รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย


12 ต.ค. 2563, 17:13



ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี จัดโครงการ kick off รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย




วันที่ 12 ต.ค.63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า  สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีจัดพิธีเปิด ( kick off ) โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซฟติกซีเมียหรือโรคคอบวม และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และนายชาญชัย จุลโลบล ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเกษตรกรผู้ลี้ยงโคนม อ.มวกเหล็ก การต้อนรับ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธี ณ ลานเอนกประสงค์ บริษัทฮอลแลนด์มิลล์ จำกัด โดยการมอบวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย แก่ผู้แทนสหกรณ์โคนม และศูนย์รับน้ำนมดิบ พร้อมด้วยเวชภัณฑ์ย่าเชื้อโรค ให้กับปศุสัตว์อำเภอ และหัวหน้าด่านกักกันสัตว์สระบุรี เพื่อนำไปฉีดให้กับสัตว์ในพื้นที่ จากนั้นได้ร่วมกันปล่อยขบวนรถปศุสัตว์เคลื่อนที่ พร้อมทั้งออกตรวจเยี่ยมฟาร์มโคนม และสาธิตการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย 

ซึ่งทางจังหวัดสระบุรีมีเกษตรกรประกอบอาชีพเลี้ยงเลี้ยง โคนมทั้งหมดจำนวน 4,403 ราย โคนมทั้งหมดจำนวน 152,163 ตัว ในพื้นที่อำเภอมวกเหล็กมีเกษตรกร 3,964 ราย โคนมจำนวน 131,749 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นอำเภอที่มีการเลี้ยงโคนมสูงสุดในจังหวัด โดยโคนมนับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้เลี้ยงเป็นจำนวนมาก แม้ว่าการเลี้ยงโคนมจะประสบปัญหาเรื่องโรคระบาดต่างๆ อยู่บ้างก็ตาม โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด เช่น โค กระบือ  แพะ แกะ สุกร เป็นต้น แต่เป็นโรคที่ไม่ติดต่อถึงมนุษย์ ลักษณะเฉพาะของโรคปากและเท้าเปื่อยคือ สัตว์ป่วยจะมีไข้สูง มีตุ่มใสที่ปากและเท้า บางตัวอาจมีตุ่มใสที่ เต้านมเมื่อตุ่มนี้แตกจะทำให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวดอย่างรุนแรงได้ ทั้งนี้ เนื่องจากโคนมเป็นสัตว์ที่เกิดความเครียดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ได้ง่าย และประกอบกับการเลี้ยงในพื้นที่อันจำกัด ทำให้สัตว์อยู่รวมกันอย่างแออัด ดังนั้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคจะทำให้มีการระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งในการควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยในโค กระบือ แพะ แกะ นั้น ในโคนมจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุก ๆ 4 เดือน ส่วนในโคเนื้อ กระบือ แพะ และแกะ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกๆ 6 เดือน สำหรับโรคเฮโมรายิกเซฟติกซีเมียหรือโรคคอบวม มีอาการคือ สัตว์จะหายใจลำบาก หายใจตื้นและเร็ว พบฟองออกมาทางจมูกและปาก เยื่อเมือกสีม่วงคล้ำ ไข้สูง 41-42 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ บริเวณหัวและคอ จะมีการบวมน้ำบริเวณใต้ผิวหนัง อัตราการป่วยและตายสูง พบโรคได้ทั้งในโค กระบือ แต่จะรุนแรงมากในกระบือ แต่สามารถป้องกันได้โดยการทำวัคซีนในโค กระบือที่มีอายุ 4 เดือนขึ้นไป โดยให้ฉีดปีละ 1 ครั้ง

 

 

ทางด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี ได้กำหนดจัดพิธีเปิด ( Kick off ) โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซฟติกซีเมีย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคระบาด และช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นแก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ กรมปศุสัตว์จึงมีนโยบายให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์การรณรงค์ฉีดวัคซีนฯ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทราบ เพื่อขอรับบริการฉีดวัคซีนที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้าน ร่วมกับปศุสัตว์เขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สหกรณ์/ศูนย์รับน้ำนม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการรณรงค์  ( Kick off )  พร้อมกันทั่วประเทศ พร้อมกันนี้กรมปศุสัตว์ยังให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องโรคและความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันพร้อมกันทั่วประเทศ และลดปัญหาการเกิดโรคระบาดได้ในที่สุด

 



 







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.