"องคมนตรี" ติดตามการประชุม บกปภ.ช. วางแผนรับมือพายุ "โนอึล" เตรียมพร้อมดูแลผู้ประสบภัย
19 ก.ย. 2563, 21:07
วันที่ 19 ก.ย.63 เวลา 13.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) คณะองคมนตรี ได้แก่ นายพลากร สุวรรณรัฐ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ นายอำพน กิตติอำพน พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ร่วมติดตามการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์พายุโนอึลและการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมี ส่วนราชการ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยัง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในการนี้ขอให้ทุกภาคส่วนดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว มุ่งเน้นการวางแผนเผชิญเหตุและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอย่างรอบด้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและดูแลประชาชนให้ได้รับความปลอดภัย
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า พายุโซนร้อนโนอึลได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และคาดว่าจะอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำและสลายตัวในวันนี้ (19 ก.ย. 2563) ซึ่งยังคงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยขณะนี้มีจังหวัดได้รับผลกระทบ 18 จังหวัด ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งไม่มีรายงานสถานการณ์สาธารณภัยในระดับรุนแรง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบได้สั่งการ ควบคุม และบัญชาการรับผิดชอบในการจัดการสาธารณภัยในเขตจังหวัด โดยมีอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เป็นหน่วยดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ ทั้งการซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ การระบายเปิดทางน้ำ การดูแลด้านสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลโดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับหน่วยงาน ด้านพยากรณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่าพายุดังกล่าวจะมีผลกระทบถึงวันที่ 20 กันยายน 2563 และได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมรับมือผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งได้เน้นย้ำความสำคัญในการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยเฉพาะการแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยรับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และกำชับให้หน่วยงานที่พื้นที่ให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ให้ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำการ บูรณาการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและการดูแลประชาชนให้ทั่วถึงระดับครัวเรือน แบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย รวมถึงเตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้มีความพร้อมในการเผชิญเหตุช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ให้ระดมสรรพกำลังเร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ โดยให้ความสำคัญกับการจัดระบบดูแลด้านชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
“กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ยังคงติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาพรวมพบว่าพายุโนอึลได้เพิ่มความชื้น และปริมาณน้ำกักเก็บในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ พื้นที่ที่สถานการณ์ได้รับผลกระทบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็จะมีการเร่งสำรวจความเสียหาย ทั้งด้านชีวิต ด้านทรัพย์สินที่เสียหาย ด้านการประกอบอาชีพ ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ ด้านสถานบริการของรัฐ ด้านระบบสาธารณูปโภค และจะมีการแบ่งมอบภารกิจ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และกำหนดแนวทางการฟื้นฟูร่วมกัน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ขอเน้นย้ำว่ารัฐบาลจะจะให้การดูแลผู้ประสบภัยให้ได้รับความปลอดภัยและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว” พลเอก อนุพงษ์ กล่าว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการทุกหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการเร่งแก้ไขปัญหา คลี่คลายสถานการณ์ภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน พร้อมทั้งได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เรือท้องแบน รถยกสูงเพื่อขนย้ายผู้ประสบภัย เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบส่งระยะไกล ประจำในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งขณะนี้การปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ได้มีการป้องกันและลดผลกระทบ ตลอดจนเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างรวดเร็ว และจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลาย ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายโดยด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่าพายุ “โนอึล” ได้ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัยมาตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2563 โดยปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวม 18 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา มุกดาหาร ปราจีนบุรี ตาก นครราชสีมา อุดรธานี ตรัง ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ รวม 45 อำเภอ 65 ตำบล 86 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ยังไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือและดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
คลิปจาก ch3thailandnews