เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"รมว.ทรัพยากรฯ" ลงพื้นที่ติดตามงานอนุรักษ์พะยูน


19 ก.ค. 2562, 08:28



"รมว.ทรัพยากรฯ" ลงพื้นที่ติดตามงานอนุรักษ์พะยูน




เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ทส.) ตลอดจนกรมการปกครอง ผู้นำชุมชนเกาะลิบง กลุ่มอาสาสมัครผู้พิทักษ์ดูหยง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่น บริเวณอ่าวดุหยง บ้านบาตูปูเต๊ะ เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

จากนั้น ได้รับฟังการสรุปแนวทางในการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่ดูแลมาเรียม  พร้อมทั้งยังได้พบและให้กำลังใจทีมสัตวแพทย์ของกรม ทช. กรม อท. และทีมสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้กำลังใจ พร้อมมอบเครื่องยังชีพ และชุดสวมใส่ปฏิบัติงานในน้ำ  ก่อนที่จะร่วมพบปะพูดคุยกับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล จ.ตรัง จำนวน 200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน 

รัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า หลังจากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง จึงเดินทางไปยัง จ.ตรัง เป็นที่แรก เพื่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการอนุบาลลูกพะยูนน้อยแบบธรรมชาติ และร่วมหารือเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรม ทช.  จากการรายงานสถานการณ์ของพะยูนเบื้องต้นทราบว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบพะยูน จำนวน 200-250 ตัว แต่ยังพบการเกยตื้นของพะยูน  ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากภัยคุกคามทางด้านการประมง 89% ป่วยตาย 10% และอื่นๆ 1%



โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการพบมาเรียม ขึ้นมาเกยตื้นในพื้นที่ จ.กระบี่ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการขนย้ายมาอนุบาลในพื้นที่อ่าวดูหยง เกาะลิบง เพราะว่าในพื้นที่แห่งนี้มีทรัพยากรของหญ้าทะเลหลากหลายสายพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงมีพะยูนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งขณะนี้ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการดูแลแบบธรรมชาติอย่างใกล้ชิด  หากมาเรียม แข็งแรงและสามารถปรับสภาพได้ดีแล้ว ก็จะปล่อยกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติ  และในอนาคตข้างหน้านี้ กรม ทช.จะทำการฝังชิพและติดแท็ก เพื่อระบุตัวตนของมาเรียม อีกด้วย

ดังนั้น ขณะนี้ประเทศไทยถึงเวลาต้องจัดทำแผนพะยูนแห่งชาติ โดยบูรณาการร่วมกันทำให้พะยูนในประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และยังเตรียมหารือจัดสัมมนาพะยูนโลก ที่จังหวัดตรัง  ส่วนเรื่องขบวนการล่าพะยูน ยืนยันไม่มีแน่นอน แต่หากพบว่ามีจริงจะไม่ปล่อยไว้อย่างเด็ดขาด  โดยได้เตรียมจัดตั้งหน่วยข่าวทรัพยากรฯ เพื่อสืบสวนหาข่าวในเชิงลึกแล้ว

หลังจากนี้ กระทรวง ทส. จะเดินหน้าขับเคลื่อนและให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากที่พบการเกยตื้นอยู่บ่อยครั้ง และไม่ใช่เพียงแค่พะยูนเท่านั้น  โดยขอความร่วมมือประชาชน และผู้ประกอบการประมงในพื้นที่ ช่วยกันสอดส่องดูแล  เพื่อมิให้สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ได้รับผลกระทบ ทั้งจากขยะพลาสติก การทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือการล่าเอาเขี้ยวของพะยูนมาทำเป็นเครื่องลางของขลัง  เพื่อให้พะยูนและสัตว์ทะเลหายากอยู่คู่กับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลต่อไป


 

 

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.