เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



โยธาฯเร่งแก้ไข "สะพานข้ามห้วยเชื่อมไบค์เลน" ถล่มรอบ 2 คาดเหตุน้ำโขงแห้ง-ออกแบบพลาด


17 ก.ค. 2562, 19:46



โยธาฯเร่งแก้ไข "สะพานข้ามห้วยเชื่อมไบค์เลน" ถล่มรอบ 2 คาดเหตุน้ำโขงแห้ง-ออกแบบพลาด




เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ จ.นครพนม  กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ประสานงาน นำทีมช่างวิศวกรจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.นครพนม ลงพื้นที่ สำรวจหาทางแก้ไขปัญหา กรณีมีสะพานข้ามลำห้วยบังกอ ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาที่รับน้ำระบายลงสู่น้ำโขง บริเวณริมน้ำโขง บ้านกุดข้าวปุ้น หมู่ 3 ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม ได้เกิดปัญหาทรุดพังถล่มเสียหายเป็นรอบที่ 2 ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้อนุมัติงบประมาณ ออกแบบก่อสร้าง ขึ้น เพื่อเชื่อมเส้นทาง ไบค์เลนเลียบ น้ำโขง มาจาก ตัวเมืองนครพนม เชื่อมไปยัง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ตามแผนพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.นครพนม

โดยสะพานข้ามลำห้วยบังกอ มีความสูงประมาณ 10 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 61 เมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างปี 2559 จำนวน 7,694,000 บาท สร้างเป็นเส้นทางข้ามลำห้วยบังกอ ที่ไหลลงน้ำโขง ซึ่งความเสียหายในครั้งแรกหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2560 ได้พังถล่มเสียหาย แต่ยังอยู่ในช่วงประกันสัญญา ทำให้ผู้รับจ้างมีการซ่อมแซมใหม่ พึ่งแล้วเสร็จ เมื่อประมาณเดือน พฤษภาคม 2562 จนกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังมีฝนตกหนัก ทำให้พังถล่มเสียหายเป็นรอบที่ 2 เนื่องจากได้รับผลกระทบ จากปัญหาน้ำโขงผันผวน มีระดับวิกฤติต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้ดินตะกอน ที่ทับถม บริเวณจุดก่อสร้าง ระหว่าง ลำห้วยบังกอ เชื่อม แม่น้ำโขง เกิดปัญหาดินสไลด์ริมตลิ่งทรุด กระทบโครงสร้างตอหม้อสะพาน พังถล่มลงมา ส่วนสาเหตุหลักจากการตรวจสอบข้อมูล คาดว่าจะมีปัญหาที่ผิดพลาดตั้งแต่การสำรวจออกแบบ รวมไปถึงการสร้างฐานตอหม้อไม่มั่นคงแข็งแรง คล้ายกับการก่อสร้าง ไบค์เลน ในตัวเมืองนครพนม ที่พังถล่มเสียหาย หลังจากนี้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง จะเร่งสำรวจและออกแบบแก้ไข และหาบริษัทผู้รับผิดชอบ มาดำเนินการแก้ไข เร่งด่วน

 



ขณะเดียวกันได้มีตัวแทนชาวบ้าน ในพื้นที่ ได้ออกมาสะท้อนปัญหา อยากให้ทางจังหวัดนครพนม รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง และกรมโยธาธิการและผังเมือง มีการ สำรวจ ออกแบบ ให้มีความมาตรฐาน เนื่องจากมีการซ่อมแซม ไปแล้ว 1 ครั้ง ต้องสูญเสียงบประมาณ ภาษีประชาชน และไม่เกิดประโยชน์ สร้างแล้วไม่ได้ใช้งาน ต้องมาเสียเวลาในการก่อสร้างใหม่ อยากให้มีการทำงานที่มาตรฐาน ได้ใช้งานจริง อีกทั้งยังเสี่ยงอันตรายกับชาวบ้านที่สัญจรไปมาตลอด เสียดายเงินภาษีประชาชน พึ่งซ่อมเสร็จกลับพังอีก ไม่มีมาตรฐานในการออกแบบก่อสร้าง

 

 


 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.