ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เผย มีคำพิพากษาที่ดินทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์
23 ส.ค. 2563, 19:22
วันที่ 23 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า มีคำพิพากษาศาลปกครองที่สำคัญ และเป็นคดีแรกของประเทศไทย ที่เป็นคดีพิพาท ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน ที่เจ้าของที่ดินทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยที่ดิน ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ถ้าเป็นโฉนดที่ดิน เกิน 10 ปี ติดต่อกัน ถ้าเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เกิน 5 ปี ติดต่อกัน ให้ถือว่ามีเจตนาสละสิทธิ์ที่ดินนั้น เมื่ออธิบดีกรมที่ดินได้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอน ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐ เป็นคดีที่เกิดขึ้นในสมัยที่ตนเองเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย)
นายนิพนธ์ เปิดเผยต่อไปว่าเมื่อ 4 ปีกว่าที่แล้ว วันที่ 11 ก.พ. 2559 น.ส.เจนจิรา ชมภูชิต กับพวก ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 12/2559 ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่ง 2 คำขอดังนี้
1. ขอให้เพิกถอนหนังสือคัดค้านของ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนแจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่คัดค้านการรังวัดที่ดินตาม น.ส. 3 ก.เลขที่ 1624 ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื้อที่ 2ไร่ 3 งาน 29 ตาราวา ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ ที่คัดค้านว่า ที่ดินดังกล่าวถึงแม้มีเอกสารสิทธิ์ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่สภาพ ปัจจุปัน มีสภาพเป็นป่า และเมื่อตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง ประกอบกับมีพยานบุคคลยื่นยันว่า ที่ดินดังกล่าวได้ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เกินกว่า 5 ปี ติดต่อกัน ถือว่ามีเจตนาสละสิทธิ์ ตาม มาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน ตกเป็นของรัฐ โดยผลของกฎหมาย โดยทันที เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกา ที่ 1989 /2511 พร้อมกับได้ทำหนังสือ และพยานหลักฐาน ขอให้อธิบดีกรมที่ดิน ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลสั่ง เพิกถอน น.ส.3 ก.เลขที่ 1624 ให้ตกเป็นของรัฐ ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน
2. ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนแจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย และค่าขาดประโยชน์ ให้กับ น.ส.เจนจิรา กับพวกผู้ฟ้องคดี เป็นเงิน 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ส.ค 2563 ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่ จึงได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 12/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 207/2563 ยกฟ้อง ในคดีดังกล่าว โดยศาลฯ ได้วินิจฉัยว่าที่ดินตาม น.ส.ก.3 เลขที่ 1624 ดังกล่าว ได้ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าติดต่อเกินกว่า 5 ปี ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ที่ดิน น.ส.3ก. เลขที่ 1624 ดังกล่าว ยังไม่ตกเป็นของรัฐโดยทันที กรมอุทยานฯ ต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนให้อธิบดีกรมที่ดิน นำเรื่องดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเพิกถอน ที่ดินน.ส. 3 ก. ดังกล่าวหรือไม่เสียก่อน นางสาวเจนจิรา กับพวกผู้ฟ้องคดี ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3ก.เลขที่ 1624 ตราบเท่าที่ดินของนางสาวเจนจิรา กับพวก ผู้ฟ้องคดียังไม่ถูกเพิกถอนสิทธิครอบครองให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ
สำหรับ ค่าเสียหายที่ น.ส.เจนจิราฯกับพวก ผู้ฟ้องคดี อ้างว่าได้กู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก.เลขที่ 1624 ดังกล่าว และค่าขาดประโยชน์ ขาดรายได้จากการที่จะทำร้านอาหาร และร้านกาแฟ ในที่ดิน น.ส. 3 ก.เลขที่1642 ดังกล่าว รวมเป็นเงิน 5 ล้านบาทนั้น ศาลฯ ได้วินิจฉัยว่า ขณะที่ น.ส.เจนจิรา กับพวกผู้ฟ้องคดีได้นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาล น.ส.เจนจิรา กับพวก ผู้ฟ้องคดี ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ตาม น.ส. 3 ก.เลขที่1624 ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ ตราบเท่าที่ดินของ น.ส.เจนจิรา กับพวกผู้ฟ้องคดี ยังไม่ถูกเพิกถอนความเสียหายที่ น.ส.เจนจิรา กับพวก ผู้ฟ้องคดี ที่กล่าวอ้างว่าได้กู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวยังไม่ถือเป็นความเสียหาย ที่จะฟ้องร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชดใช้ให้แก่ น.ส.เจนจิรา กับพวกผู้ฟ้องคดีได้ การกระทำของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนแจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อ น.ส.เจนจิรา กับพวกผู้ฟ้องคดี
ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการที่จะทำร้านอาหารหรือร้านกาแฟ ในที่ดินน.ส.3 ก.เลขที่ 1624 ดังกล่าวนั้นค่าเสียหายดังกล่าว เป็นเพียงการคาดการณ์ในอนาคต จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ให้แก่น.ส.เจนจิรา กับพวกผู้ฟ้องคดี
จากคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ดังกล่าว และตามนโยบาย ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายจตุพรบุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญาเนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ให้ดำเนินคดีกับนายทุน ผู้บุกรุกป่า อย่างเด็ดขาด หากพบการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบในที่ดินในเขตป่า ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดต่อไป
ดังนั้น นายนิพนธ์ จึงได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทุกแห่งในสังกัด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ที่ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในจังหวัดกาญจนบุรีสุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ให้ดำเนินการ ตรวจสอบโฉนดที่ดิน หรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่รับผิดชอบ หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ โดยมิชอบ ก็เสนอขอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบในที่ดินเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน กลับคืนมาเป็นสมบัติของแผ่นดินดังเดิม
ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่า โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกโดยชอบ แต่ได้ทอดทิ้ง หรือไม่ทำประโยชน์ ถ้าเป็นโฉนดที่ดิน เกิน 10 ปี ถ้าเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกิน 5 ปี ถือว่า มีเจตนาสละสิทธิ์ ในที่ดิน ก็เสนอขอให้กรมที่ดิน เสนอต่อศาล เพิกถอน ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน กลับคืนมาเป็นสมบัติของแผ่นดินดังเดิม
นายนิพนธ์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า หากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ล่าช้า ทั้งที่มีพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้ง โดยปราศเหตุอันสมควร หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เดือดร้อน หรือเสียหาย อาจสามารถยืนฟ้อง ให้กรมที่ดินดำเนินการตามกฎหมายที่ดิน มาตรา 6 หรือมาตรา 61 ได้ไม่ขัดกับมติ ครม. 12 ธ.ค.2549 เทียบเคียงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.529/2559 และถ้าหากดำเนินการอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในที่ดินที่ได้ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดินในทุกพื้นแล้ว จะเป็นการกระตุ้นการพัฒนาที่ดินและสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังได้พื้นที่ป่าหรือพื้นที่สีเขียวเพิ่มขี้นจากการยึดคืนที่ดินมาจากนายทุนอีกด้วย