"ม.ราชภัฏศรีสะเกษ" เปิดโครงการวัฒนธรรมสัมพันธ์ ราชภัฏสร้างสรรค์ชุมชนกุย กวย ส่วยศรีสะเกษ ปี 2563
15 ส.ค. 2563, 08:21
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านเมืองจันทร์ ต.เมืองจันทร์ อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ นายศราวุธ ทรงโฉม นายอำเภอเมืองจันทร์ เป็นประธานเปิดโครงการวัฒนธรรมสัมพันธ์ ราชภัฏสร้างสรรค์ชุมชนกุย กวย ส่วยศรีสะเกษ ปี 2563 โดยมี ผศ.ดร.อาสนะ เชิดชู ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ พร้อมด้วย ผศ.อธิชาติ บุญญยศยิ่ง รอง ผอ.สำนักส่งเสริมบริการวิชาการและงานทะเบียน ผศ.ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล รอง ผอ.สำนักส่งเสริมบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ นำปราชญ์ชาวบ้าน และชาวชุมชนกูย กวย ส่วยศรีสะเกษ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนประมาณ 200 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เพื่อพัฒนาร่วมกับชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมั่นคงทางวัฒนธรรม เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธ์กุย กวย ส่วยศรีสะเกษ เพื่อขยายผลกิจกรรมท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เก็บรวบรวมเป็นเอกสารทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่สู่สังคมและให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อไป
ผศ.ดร.อาสนะ เชิดชู ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า เนื่องจากงานศิลปะและวัฒนธรรม เป็นหน่วยหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร และมีความสอดคล้องกับปรัชญาพันธกิจและยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย โดยมีความตระหนักเสมอว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นรากเหง้าที่สำคัญของท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญนอกเหนือจากการส่งเสริมกิจกรรมด้านการเรียนการสอนแล้ว จึงเป็นหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทะนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อเชิดชูและเสริมสร้างสำนึกรักษ์ท้องถิ่น ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน งานศิลปวัฒนธรรมจึงได้ร่วมกับเทศบาลตำบลเมืองจันทร์ จัดโครงการวัฒนธรรมสัมพันธ์ ราชภัฏสร้างสรรค์ ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีชาติพันธุ์ กุย กวย ส่วยศรีสะเกษ” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลและผลงานทางศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นศรีสะเกษ และใกล้เคียง เพื่อจัดแสดงในศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อศึกษาค้นคว้าและวิจัยศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยเน้นภูมิปัญญาไทย จัดการเผยแพร่ผลงานการศึกษาค้นคว้าวิจัย โดยให้ทางงานศิลปะและวัฒนธรรมเป็นศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม และให้บริการทางวิชาการแก่นักเรียน นักศึกษา และชุมชน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบรรยาย การสาธิต การจัดนิทรรศการ และการให้บริการข้อมูลทางวัฒนธรรมแก่ผู้สนใจ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายกับท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อไป