มท.2 เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำเสีย เร่งสร้างความเข้าใจ-ร่วมมือ ย้ำ ปชช.ส่วนสำคัญที่สุด
11 ส.ค. 2563, 20:34
วันนี้ ( 11 ส.ค.63 ) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ให้สัมภาษณ์ในรายการ เคลียร์ คัด ชัดเจน ทางช่อง 11 NBT ถึงแนวทางบริหารจัดการน้ำเสียชุมชน และ น้ำเสียจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไร ว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเสียร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ 1.ให้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของประชาชนอย่างเร่งด่วน 2.ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบท่อรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียเดิม เนื่องจาก อปท.บางแห่ง มีปัญหาระบบท่อรวบรวมน้ำเสียที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดและมีปัญหาท่อรวบรวมน้ำเสียชำรุดเสียหายจากการใช้งาน ซึ่งมีผลทำให้น้ำเสียไหลลงสู่แหล่งรองรับน้ำ จึงต้องมีการก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมให้สามารถใช้งานได้ดี รวมทั้งปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียเดิมให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.รณรงค์ให้ประชาชน และชมุชนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย 4.ปรับปรุงภาพลักษณ์ ของที่เดิมเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ ให้เข้าถึงชุมชนได้มากขึ้นเช่นขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยปรับให้เป็นพื้นที่ที่ทำประโยชน์อย่างิอื่นได้เช่น สนามฟุตซอล ลานจัดกิจกรรม เป็นต้น
นายนิพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า ที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำเสียประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน เช่น การช่วยลดความสกปรกของน้ำเสียจากต้นทาง คือ บ้านเรือน ร้านอาหารด้วยตนเอง เช่น การดูแลถังดักไขมัน การไม่ทิ้งน้ำเสียหรือขยะลงในแม่น้ำ ลำคลองโดยตรง จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตนได้มอบนโยบายให้องค์การจัดการน้ำเสียดำเนินการ นำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วได้ตามมาตรฐานกลับมาใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งน้ำสำรอง เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เช่น นำไปใช้ในการการเกษตรกรรม รวมทั้งเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ สามารถประหยัดงบประมาณรายจ่าย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำ และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัด
นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่กำกับดูแลการประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งดำเนินการผลิตน้ำประปา และกำกับดูแลองค์การจัดการน้ำเสียที่ดูแลการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งได้มอบนโยบายทั้งสองหน่วยงานต้องร่วมกันในการให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันไม่ให้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำนั้น เสื่อมโทรม ร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน รวมทั้งวางแผนให้บุคลากรหรือใช้เทคโนโลยีของทั้งสองหน่วยงาน ดำเนินการป้องกันดูแลรักษาแหล่งน้ำให้มีคุณภาพดี การเข้าไปให้ความรู้ ปรับปรุงคุณภาพน้ำประปา และ ป้องกันน้ำเสีย ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
“ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้ โดยเริ่มจากที่บ้านของตนเอง การแยกเศษอาหารไม่ทิ้งรวมลงในท่อระบายน้ำ การติดตั้งดูแลถังดักไขมัน เพื่อลดความสกปรกของน้ำทิ้งจากบ้าน ถ้าท่านใดมีร้านอาหารก็ช่วยหมั่นดูแล ทำความสะอาดถังดักไขมันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนประชาชนที่มีบ้านพัก อาศัยอยู่ริมคลอง ริมแม่น้ำ ต้องช่วยกันไม่ทิ้งเศษอาหาร หรือ ขยะลงสู่แม่น้ำ ลำคลองโดยตรง ถ้าเป็นผู้ประกอบการขายอาหารริมทางเดิน ก็ช่วยกันไม่ทิ้งเศษอาหาร ขยะลงในท่อระบายน้ำ ช่วยกันรวบรวมไปทิ้งที่ถังขยะ จะแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน เพียงเท่านี้ปัญหาน้ำเสีย ก็จะลดน้อยลงไป เพราะเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสีย” รมช.มหาดไทย กล่าว