ชป.เผยพายุ "ซินลากู" เติมน้ำเขื่อนภาคเหนือ -"เขื่อนอุบลรัตน์" สัญญานดีน้ำไหลเข้าสูงสุดในรอบปี
3 ส.ค. 2563, 18:01
วันนี้ ( 3 ส.ค.63 ) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังได้รับการรายงานจากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “ ซินลากู " ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. 63 ถึง 3 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีฝนตกบริเวณเหนือเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด(ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด) ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั้ง 73 แห่งรวมกันประมาณ 75 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนประมาณ 17.79 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากที่สุดในรอบปี ทำให้ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมรวมกันประมาณ 32 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 2,090 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าอีก 2-3 วัน จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ
ขณะที่ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 2 - 4 ส.ค. 63 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(3 ส.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 31,836 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,163 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 44,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,422 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 726 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (3 ส.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 6,973 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,435ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 75 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 815 ล้าน ลบ.ม.
จากสถาการณ์ฝนที่ตกหนักในระยะนี้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างฉับพลัน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวดเลย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด กรมชลประทาน ได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสามารถให้การช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ปริมาณฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ ช่วยเติมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติได้พอสมควร อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างตั้งแต่เมื่อวานจนถึงเช้าวันนี้ กว่า 100 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันก็ยังคงมีฝนตกบริเวณเหนือเขื่อนฯ เป็นแนวโน้มที่ดีที่จะเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะทุกแห่ง (SWOC 1 – 17) ติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำตามช่วงเวลาที่กำหนด รวมทั้ง จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ให้พร้อมในการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน โทร. 1460 หรือติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.rid.go.th/ และ www.rid.go.th
ตารางสรุปสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภาคเหนือ และภาคกลาง