ผู้ว่าฯ ชุมพร รับมอบแขน-ขาเทียม โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เฉลิมพระเกียรติ ในหลวง ร.10
17 ก.ค. 2563, 15:38
วันนี้ (17 ก.ค. 63) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร, และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมในพิธีมอบ แขน ขาเทียม และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ในโครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ประจำปี 2563 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานในพิธี ณ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เพื่อช่วยให้คนพิการได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ได้รับกายอุปกรณ์เสริมและเทียม รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยที่จำเป็นและมีคุณภาพ อันจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีคนพิการ
นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ประจำปี 2563 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดชุมพร มีการดำเนินงานทั้งในด้านวิชาการและบริการ ตั้งแต่การตรวจประเมินความพิการ การทำแขน-ขาเทียม การให้อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ โดยระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ได้จัดบริการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการ เพื่อนำไปจุดทะเบียนคนพิการ แก่คนพิการที่ยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรหาย 11 ราย ผลิตแขนเทียม 25 ราย ผลิตขาเทียม 129 ราย เบ้าอ่อนซิลิโคนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน 23 ราย อุปกรณ์เสริมเท้าส่วนหน้า จำนวน 1 ราย ให้บริการซ่อมแซม และเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์แขน-ขาเทียม 21 ราย และในรายคนพิการขาขาดที่ไม่สามารถใช้ขาเทียมได้มอบเครื่องช่วยเดิน 21 ราย รวมมีผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 231 ราย
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ที่ต้องถูกตัด แขน ขาเป็นคนพิการรายใหม่กว่า 3,500 ราย แขน ขาเทียม จึงถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญยิ่งสำหรับคนพิการ เพื่อใช้ทดแทนในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการดำรงชีวิตในสังคม ทั้งนี้ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการโดยมี พ.ร.บ. ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 เพื่อให้ผู้พิการได้รับสิทธิโอกาสการคุ้มครองจากรัฐเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ อย่างไรก็ตามคาดว่ายังมีคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการ เนื่องจากมีข้อจำกัด เช่น อุปกรณ์ค่อนข้างแพง หรือการเดินทางที่ไม่สะดวก กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศและความต้องการของประชาชน การดำเนินงานต่างๆ ล้วนมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาคโดยส่วนหนึ่งของการดำเนินการบริการทางการแพทย์ในประชาชนกลุ่มคนพิการได้มอบหมายให้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จัดทำแผนแบบองค์รวมทั้งในด้านบริการและวิชาการเพื่อให้คนพิการแขนขาขาดทั้งรายเก่ารายใหม่ได้เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพเชิงรุก ซึ่งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน สามารถให้บริการคนพิการทางการเคลื่อนไหวจำนวน 9,504 ราย