ฝันใกล้เป็นจริง! อุโมงค์ทางลอดแห่งแรกในเมืองโคราช
16 ก.ค. 2563, 14:14
กรมทางหลวงร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา จัดประชุมเพื่อหารือแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อุโมงค์บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมา) จ.นครราชสีมา โดยนายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 กล่าวว่า กรมทางหลวงมีแผนจะก่อสร้างอุโมงค์บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมา) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง เมื่อปี 2550 (13 ปีที่แล้ว) ได้เคยสำรวจและออกแบบรายละเอียดมาแล้ว แต่มีเหตุขัดข้องจากความเห็นของชาวโคราชทำให้โครงการดังกล่าวยืดเยื้อมากว่า 1 ปี ทางหลวงจึงได้นำกลับมาสำรวจอีกครั้ง จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการพบว่ามีแหล่งโบราณสถานในระยะ 1 กิโลเมตรจากถนนโครงการ ได้แก่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประตูชุมพล และบ้านสำโรงจันทร์ ซึ่งเข้าข่ายโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนการพัฒนาโครงการ
กรมทางหลวง จึงได้ว่าจ้างบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ซิตี้ แพลนโปรเฟสชันนอล จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาทบทวนรูปแบบการก่อสร้างที่เคยออกแบบไว้เมื่อปี 2550 และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด ใช้งบประมาณก่อสร้าง 800 ล้านบาท รูปแบบอุโมงค์จะมีขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างภายใน 9.10 เมตร ตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 ระยะทางโดยรวมของโครงการ 1.189 กิโลเมตร มีช่องจราจร 3.25 เมตร มีทางเท้ากว้าง 1 เมตร ซ้อนทับกับแนวทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ในทิศทางจากจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวขวาไปจังหวัดสระบุรีมีความสูงช่องลอดไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ความลาดชันของอุโมงค์ร้อยละ 4 ความยาวอุโมงค์ 929 เมตร ความอุโมงค์ช่วงปิด 126 เมตร สามารถรองรับความเร็วออกแบบได้ 50 กม./ชม. ภายในอุโมงค์จะมีไฟส่องสว่าง และระบบระบายน้ำด้วยการติดตั้งปั้มน้ำจำนวน 5 เครื่อง คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2566