อาชีพใหม่! "ลิงกัง" เลิกเก็บมะพะร้าวรับจ้างเฝ้าศาลากลางประจวบฯป้องกัน "ลิงแสม" รื้อหลังคา
10 ก.ค. 2563, 15:03
จากกรณี กรณีสหภาพยุโรปและองค์กรพิทักษ์สัตว์ ( PETA ) รณรงค์ ไม่ให้ใช้กะทิแปรรูปจากประเทศไทย เนื่องจากมีการใช้กังในการเก็บผลมะพร้าว ว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ขณะที่หน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่าที่ จ. ประจวบคีรีขันธ์ มีการนำลิงกัง มาเฝ้าเพื่อป้องกันการรื้อหลังคาของฝูงลิงแสมจากเขาช่องกระจก ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังนานหลายสิบปี หลังจากศาลากลางหลังเก่าเป็นอาคารไม้ ถูกลิงแสมกว่า 2000 ตัว รุมรื้อกระเบื้องหลังคา ฝ้าเพดาน เข้าไปรื้อค้นสิ่งของภายในสำนักงาน ทำให้หน่วยราชการต้องย้ายออกไปจากอาคารทั้งหมดและละอยู่ระหว่างการใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาท จากสำนักงานจังหวัดเพื่อซ่อมแซม
วันที่ 10 กรกฎาคม นายเอกดนัย ช่วยทิพย์ อายุ 27 ปี ชาว ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ อาชีพรับจ้างนำลิงกังเฝ้างาน เปิดเผยว่า เลี้ยงลิงกังมานานกว่าสิบปี ในพื้นที่นอกจากลิงกังที่ขึ้นมะพร้าว ที่ผ่านมาได้นำลิงกังไปเฝ้าในงานแสดงสินค้า โดยเฉพาะพื้นที่หน้าศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ รอบพื้นที่เขาช่องกระจก เช่น งานกาชาดจังหวัด งานประจำปีวัดธรรมิการาม งานแสดงสินค้าเกษตร งานเทศกาลออกพรรษา แต่ละครั้งจะมีคาราวานร้านค้าจำนวนมากที่ประสบปัญหา ลิงแสมจะลงจากเขาช่องกระจก รื้อทำลายสิ่งของภายในเต้นท์ สร้างความเสียหาย ผู้จัดงานจึงจ้างลิงกังเฝ้าบริเวณจัดงาน โดยจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน เนื่องจากกลิ่นสาปของลิงกังส่งผลให้ลิงแสมไม่เข้าใกล้เพราะกลัวการถูกกัด เนื่องจากกังมีลักษณะตัวใหญ่กว่า เขี้ยวแหลมคม และดุร้าย
นายเอกดนัย กล่าวว่า สำหรับศาลากลางหลังเก่า หน่วยงานในจังหวัดได้ว่าจ้างลิงกังมาเฝ้าเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้ผู้รับเหมาทำการปรับปรุงหลังคาและฝ้าเพดาน โดยตนได้นำลิงกัง 4 ตัว เดือนละ 3 หมื่นบาท ทำสัญญาจ้าง 3 เดือน ประจำจุดที่ข้างศาลากลางทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก พร้อมนำแผงเหล็กและเชือกมาล้อมบริเวณ พร้อมเขียนข้อความระวังอันตรายลิงกังกัด เนื่องจากลิงกังจะมีความดุร้ายกับคนแปลกหน้า และบางครั้งมีคนมาแกล้งทำให้ถูกลิงกังเข้าทำร้ายตามสัญชาติญาณป้องกันตัวของสัตว์ป่า
“การนำลิงกังมาเฝ้าศาลากลาง คนเลี้ยงต้องมาดูแล เพื่อไม่ให้กังรู้สึกเหงา หรือแปลกถิ่น และต้องให้น้ำให้อาหารครบทุกมื้อ โดยเฉพาะน้ำดื่ม ลิงกังที่เลี้ยงไว้ชอบกินน้ำใหม่ทุกครั้ง เมื่อเทน้ำใส่ภาชนะก็จะกินแค่ครั้งเดียวและยกคว่ำเทน้ำทิ้ง ทำให้ต้องเทน้ำให้กินบ่อย ๆ เพื่อป้องกันร่างกายสะสมความร้อนจากสภาพอากาศ”นายเอกดนัย กล่าว///////////