จนท.รุดช่วยช้างป่ากุยบุรีเพศผู้อายุ 5 ปี ล้มบาดเจ็บกลางไร่ขนุน เบื้องต้นรักษาตามอาการ
29 พ.ค. 2563, 17:14
วันนี้ ( 29 พ.ค.63 ) นายพิทักษ์ พิศสิริวัฒนสุทธิ์ นายอำเภอสามร้อยยอด ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ว่าพบช้างป่า ล้มเจ็บนอนอยู่ในไร่ของชาวบ้าน บริเวณหุบหนองรอยเสือ ม.7 ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงรุดไปตรวจสอบพร้อมด้วย พ.ต.อ.ภาคภูมิ โห้ใย ผกก.สภ.สามร้อยยอด นายสัตวแพทย์กชพร พิมสิน พร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่เกิดเหตุอยู่ภายในสวนขนุนของชาวบ้าน ห่างจากถนนลูกรังประมาณ 10 เมตร พบช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 5-6 ปี มีงายาวประมาณ 50 เซนติเมตร ล้มตะแคงด้านซ้ายลุกขึ้นไม่ได้ สภาพผอมแห้ง โดยเมื่อเห็นคนก็พยายามยกขาข้างซ้ายขึ้นเพื่อจะลุกหนี แต่ก็ไม่สามารถลุกขึ้นได้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ที่โคนหางมีบาดแผลเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร มีแมลงวันตอมจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบบาดแผลขนาดเล็กประมาณ 2-3 ซม.ที่บริเวณบั้นท้ายอีก 2 แผล
ต่อมาทางสัตวแพทย์ได้เข้าตรวจสอบพบว่าช้างตัวดังกล่าวมีอายุประมาณ 5-6 ปี มีลักษณะผอม มีเรื่องความผิดปกติในร่างกาย ทำให้ผอมได้ขณะนี้ ต้องตรวจห้องแล็ปอีกที่ เบื้องต้นพบว่ามีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง และถ่ายเหลว จึงได้ทำรักษาเบื้องต้น ตามอาการ โดยการให้น้ำเกลือ และยาปฏิชีวนะ แก้ท้องเสีย ยาคลายเครียด และยาบำรุง
ด้านนายเยื้อน แก้วกัณฑ์ อายุ 70 ปี เจ้าของไร่ที่พบช้างเป็นคนแรก เล่าว่าตนเองจะมาไล่กระรอก ที่มากินผลผลิตในไร่ และก็มาพบช้างตัวดังกล่าวนอนอยู่กลางไร่ใต้ต้นขนุน มีอาการลุกไม่ขึ้น ตนเองได้ไล่ให้ช้างลุกขึ้น แต่ช้างไม่สามารถลุกขึ้นได้ จากการสังเกตเห็นว่าช้างตัวนี้ผอมมาก คิดว่าน่าจะไม่มีแรงลุก จึงได้ออกไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ
นายเยื้อนกล่าวเพิ่มเติมว่า ช้างตัวดังกล่าว หากินอยู่บริเวณนี้มานานแล้ว และเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมาพบว่าเดินอยู่ตัวเดียว คาดว่าน่าจะถูกขับออกจากฝูง และมาหากินอยู่บริเวณนี้เกือบทุกวัน จนเมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มสังเกตว่าช้างมีรูปร่างผอมแห้งอย่างชัดเจนจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่อุทยานทราบ โดยเจ้าหน้าที่ได้แวะเวียนมาตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ แต่ช้างก็ยังไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ยังคงเดินหากินอยู่บริเวณนี้ตามปกติ จนกระทั่งวันนี้มาพบว่าช้างตัวดังกล่าวล้มนอนลุกขึ้นไม่ได้อยู่ในไร่ของตนดังกล่าว
ในส่วนทางสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาเบื้องต้นตามอาการ เพื่อรอดูว่ามีอาการดีขึ้นหรือไม่ หากดีขึ้นก็จะทำการช่วยพยุงให้ลุกขึ้น เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่ หากนอนเป็นเวลานานอาจเกิดอาการอื่นแทรกซ้อนขึ้นมาได้