ชื่นชม มทส. ผลิตแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบ สนับสนุนภารกิจทางการแพทย์
20 พ.ค. 2563, 16:47
20 พฤษภาคม 2563 ณ อาคารศูนย์รังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รองศาสตราจารย์ ร.อ. ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มทส. เผยว่า “มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการนำองค์ความรู้ทางวิชาการที่มี เพื่อแก้ปัญหาตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศชาติ จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมทุกภาคส่วน มหาวิทยาลัยได้จัดตั้ง “กองทุน มทส. สู้ภัยโควิด-19” ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์นี้ ครอบคลุมถึง นักศึกษา บุคลากร ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ที่สำคัญ ได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักวิจัยได้แสดงศักยภาพในการคิดค้น พัฒนา สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาทุกข์ แก้ปัญหาความขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยใช้กำลังคน เครื่องมืออุปกรณ์ พร้อมงบประมาณที่มหาวิทยาลัยจัดสรรไว้ ปรากฎเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ส่งต่อไปถึง โรงพยาบาล มทส. โรงพยาบาลโชคชัย โรงพยาบาลในภาคอีสาน โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลวชิระ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ องค์กร ชุมชนในจังหวัดนครราชสีมา เช่น หน้ากาก face shield ห้องตรวจคัดกรองเชื้อความดันลบเคลื่อนที่ ตู้ตรวจคัดกรองเชื้อความดันบวก-ความดันลบ เครื่องกำจัดและกรองอากาศด้วยระบบพลาสมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงเพื่ออบกำจัดเชื้อไวรัสในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ และแอลกอฮอล์เจล เป็นต้น สำหรับผลงาน “แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบ (Isolation Capsule)”
โดย ทีมศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. เป็นอีกผลงานหนึ่งอันเกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิศวกรรมศาสตร์ และด้านการแพทย์สาธารณสุข ซึ่งใช้ประโยชน์ได้จริง ต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ มีความยืดหยุ่น ปรับลดขนาดได้ตามการใช้งาน ที่สำคัญเป็นฝีมือคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ และได้ส่งมอบแก่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานต่อไป”
อาจารย์ ดร.ฉัตรเพชร ยศพล รองผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. กล่าวว่า “แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบ หรือ Isolation Capsule ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และสามารถปรับลดขนาดให้เหมาะกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ ขนาดปกติ 50 x 200 x 57เซนติเมตร และเมื่อปรับลดมีขนาด 50 x 200 x 33 เซนติเมตร ซึ่งพอดีสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ 1 คน โครงสร้างไร้โลหะ ช่วงบนและตัวแคปซูลสามารถปรับขนาดให้เข้าเครื่อง CT Scan ได้ โดยที่คนไข้ไม่ต้องออกจากแคปซูล ด้านบนและด้านข้างผลิตจากพลาสติกใส มีช่องเปิด-ปิด สำหรับให้แพทย์และพยาบาลทำหัตถการตามตำแหน่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย ภายในแคปซูลควบคุมแรงดันอากาศให้เป็นลบ หรือ Negative Pressure โดยอากาศภายในจะถูกดูดออกและผ่านเครื่องกรองเชื้อโรค Powered Air Purifying Respirators (PAPR) with HEPA ป้องกันการติดเชื้อต่อผู้เคลื่อนย้ายและบุคคลภายนอก ซึ่งแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบดังกล่าว หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาสูงมาก ศูนย์เครื่องมือฯ จึงได้ระดมวิศวกรและพนักงานบูรณาการทำงานภายใต้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยจนสำเร็จ ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณและมีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าหลายเท่าตัว ทั้งยังมีความยืดหยุ่นและปรับขนาดได้ตามการใช้งาน มีประสิทธิภาพสูง โดยจะได้มอบแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบนี้ให้ทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ทางศูนย์เครื่องมือฯ ภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้”
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ปีติกมล คงสมัย สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โทร. 09 5814 5910 email: peetikamol.k@g.sut.ac.th ทุกวันและเวลาทำการ
ที่มา Suranaree University of Technology